ออกเดินทางไปตามหาคำตอบที่ใช่จาก “ปากเซ” สปป.ลาว

ปากเซ

บันทึกการออกเดินทางไปตามหาคำตอบที่ใช่จาก “ปากเซ” สปป.ลาว

บทที่ 1 : ออกเดินทาง เพราะความจำเจ

“ผมชอบการเดินทาง มันทำให้เราได้เห็นโลกมากขึ้นอีกนิด ได้ลองพบอะไรใหม่ๆ ออกจากความจำเจในชีวิตที่ต้องเจอทุกวัน ทุกๆ ปีผมมักจะหาที่เดินทางใหม่ๆเสมอในแบบของผม” – ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์

บางครั้งเหตุผลของการออกเดินทางก็อาจจะเกิดมาจากความจำเจในชีวิตที่ต้องเจอทุกวัน เริ่มตั้งแต่ตื่นเช้าออกไปทำงาน ผ่านการจราจรที่โคตรคับคั่ง นั่งหน้าคอมทั้งวัน พักเที่ยงก็ไม่รู้จะกินอะไร เลิกงานนั่งรถกลับบ้านบางวันใช้เวลานานเท่ากับการนั่งจากกรุงเทพไปหัวหิน กินข้าวอาบน้ำ เล่นเฟสบุ๊คแล้วก็นอน มีวงจรชีวิตแบบนี้ตั้งแต่วันจันทร์ยันวันศุกร์ บางคนอาจจะถึงวันเสาร์เลยด้วยซ้ำ

จนรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังจะกลายเป็นเครื่องจักร ที่ถูกวางโปรแกรมเอาไว้แล้วปล่อยให้ทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร แต่บังเอิญว่าพวกเรามันเป็นมนุษย์ที่มีความนึกคิดและชีวิตจิตใจ เลยไม่ยอมปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกอยู่ในสภาพแบบนั้นได้ตลอดไป จึงต้องพยายามค้นหาวิธีเพิ่มความมีชีวิตชีวาและแต่งเติมสีสันให้กับชีวิต หนึ่งในนั้นคือ “การออกเดินทาง” ออกไปให้ไกลจากความจำเจที่ต้องเจอทุกวัน ออกไปชาร์ตแบตให้ร่างกายและจิตใจ ออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากห้องทำงาน

แต่ความรู้สึกจำเจมันไม่เคยนัดล่วงหน้า ชอบเข้ามาในช่วงที่วันหยุดยาวยังมาไม่ถึง แถมวันลาพักร้อนก็ถูกจองด้วยแผนการเดินทางอื่นไปหมดแล้ว ชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่มีวันหยุดแค่เสาร์อาทิตย์จะสามารถออกเดินทางไปได้ไกลแค่ไหนกัน

หนังสือเดินทาง

บทที่ 2 : หนังสือเดินทาง เพราะเพลงพาไป

“ครั้งหนึ่ง ที่เธอมีชีวิตอยู่ เธอควรจะได้รู้ ว่ารักใครแสงดาว และท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ ก็รอให้เธอค้น หาคำตอบ
ถ้าเธอไม่ลองก็ไม่รู้ ไม่ลองเปิดดูก็ไม่เจอ ชีวิตที่แท้เป็นของเธอ ใช่ไหม ยิ่งลองเท่าไร ก็ยิ่งรู้ ฮู อู้ว อู่ อู้
And you will find what’s in you” – 25 Hours

บนโลกนี้มีเพลงเป็นล้านเพลง แต่อาจจะมีเพียงไม่กี่เพลงที่ฟังแล้วทำให้รู้สึกอยากออกเดินทาง เพลง “คำตอบที่ใช่” เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ช่วยเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้เราออกเดินทางในครั้งนี้ ออกเดินทางไปตามหาคำตอบที่ใช่จาก “ปากเซ”

เพราะความจำเจที่เกิดขึ้นในช่วงขณะหนึ่งของชีวิต ประกอบกับการที่ได้ฟังเพลง คำตอบที่ใช่ ของวง 25 hours ทำให้เราตัดสินใจออกเดินทางไปยัง เมืองปากเซ สปป.ลาวที่อยู่ห่างจากจุดที่เราอยู่ออกไปประมาณ 687 กิโลเมตร กับระยะเวลาที่มีอยู่ ณ ตอนนั้นเพียงแค่สองวัน นั่นก็คือ “เสาร์อาทิตย์” จึงต้องออกเดินทางคืนวันศุกร์ กลับถึงกรุงเทพฯเช้าวันจันทร์

ไปแบบนั้นจะได้สัมผัสบรรยากาศของที่นั่นสักแค่ไหนกันเชียว เดินทางไปกลับก็คงหมดเวลาหมดแรงแล้วมั้ง คงเป็นคำถามที่ใครหลายคนอาจจะกำลังฉุกคิดขึ้นมาเมื่ออ่านจบ ก่อนไปเราเองก็เคยมีความคิดแบบนั้นเหมือนกัน แล้วจะทำได้จริงไหม ทำได้รึเปล่า เราจะเล่าให้ฟัง

บทที่ 3 : เพราะชีวิต คือ การเดินทาง

การเดินทางไปยังเมืองปากเซ สปป.ลาว ดินแดนแห่งลาวใต้ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามของธรรมชาติและวัฒนธรรมสามารถเลือกได้หลากหลายวิธี ถ้าชอบแบบเร็วหน่อยและสะดวกสบาย แต่ราคาแพงถ้าไม่ได้จองล่วงหน้าก็เครื่องบิน ช้าหน่อยแต่ชัวร์และชิวก็รถไฟ จองแบบกระชันชิดหน่อยและไม่มีทางเลือกอื่นแบบเราก็รถทัวร์ แต่ทุกรูปแบบของการเดินทางไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถไฟ หรือรถทัวร์ ก็สามารถช่วยให้เราไปถึงจุดหมายปลายทางได้เหมือนกัน จะต่างกันก็ตรงเรื่องของระยะเวลา งบประมาณ ความสะดวกสบาย ซึ่งขึ้นอยู่การตัดสินใจเลือกของเราเอง

ไม่ต่างอะไรกับชีวิตของคนเรา ที่มีเส้นทางให้เลือกเดินมากมาย เพื่อที่จะไปให้ถึงจุดหมายที่ตั้งใจหรือที่เรียกกันว่า “ความสำเร็จ” จะสามารถถึงจุดนั้นได้ช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับเส้นทางที่เราตัดสินใจเลือกเดิน บางครั้งเส้นทางนั้นอาจจะราบรื่น หลายๆครั้งเส้นทางนั้นก็อาจจะมีอุปสรรคเข้ามาทักทายอยู่บ่อยๆ จนทำให้ถึงจุดหมายได้ช้ากว่าที่ตั้งใจ แต่หากเราเรียนรู้และรับมือกับสิ่งเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเส้นทางไหนก็พาเราไปถึงจุดหมายได้เหมือนกัน เพราะอุปสรรคระหว่างทาง คือประสบการณ์ของชีวิต เพราะชีวิต คือ การเดินทาง…

รถทัวร์

เราเริ่มต้นออกเดินทางจากกรุงเทพฯในคืนวันศุกร์ หลังจากเลิกงานรีบกลับบ้านเพื่อมาเปลี่ยนจากกระเป๋าคอมพิวเตอร์เป็นกระเป๋าเดินทาง พร้อมทั้งหาอะไรกินรองท้องก่อนรีบบึ่งไปขึ้นรถรอบสามทุ่มครึ่ง และดูเหมือนกับว่าร่างกายจะรับรู้ได้ทุกครั้งที่กำลังจะออกเดินทาง จึงทำให้เลือดสูบฉีบมากกว่าปกติ และนอนไม่ค่อยหลับเพราะความตื่นเต้น แต่สุดท้ายก็เผลอหลับไปตอนไหนไม่รู้

รู้ตัวอีกทีก็มีแสงยามเช้าส่องผ่านกระจกหน้าต่างรถเข้ามาแยงตา ถ้าเป็นแสงไฟของรถก็อาจจะทำให้รู้สึกหงุดหงิดได้นิดหน่อย แต่บังเอิญว่าเป็นแสงธรรมชาติที่มาจากท้องฟ้าสีชมพูปนส้มดูแล้วสวยงามเลยให้อภัย

รถตู้สายอุบลฯ-ช่องเม็ก

บทที่ 4 : การเดินทาง คือ การเรียนรู้

รถทัวร์จอดเทียบชานชาลาของสถานีขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีเวลาตีห้าสี่สิบเจ็ดนาที แต่เหลือเวลาอีกไม่กี่นาทีรถตู้สายอุบลฯ-ช่องเม็กที่จอดรออยู่ในชานชาลาหมายเลขสิบแปด เที่ยวแรกเวลาหกโมงเช้ากำลังจะเริ่มออกเดินทาง เราจึงรีบวิ่งไปซื้อตั๋วและขออนุญาติคนขับไปยิงกระต่ายสักเล็กน้อย

บนรถตู้มีผู้โดยสารเกือบเต็มคัน เหลือว่างแค่แถวหลังสุดที่มีเรานั่งอยู่แค่คนเดียว นั่งไปได้สักพักเริ่มรู้สึกหิว เลยหยิบเอาน้ำและขนมที่ได้รับแจกฟรีจากบนรถทัวร์มากินพร้อมกับนั่งดูวิวสองข้างทางไปพลางๆ ประหยัดไปได้หนึ่งมื้อ

รถตู้สายอุบลฯ-ช่องเม็ก

ผ่านไปประมาณชั่วโมงครึ่งก็มาถึงท่ารถตู้ ซึ่งเดินต่อไปอีกไม่ไกลประมาณสักห้าร้อยเมตรก็จะถึงด่านช่องเม็กที่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล

รถตู้สายอุบลฯ-ช่องเม็ก

แผนที่การเดินทาง

รถตู้สายอุบลฯ-ช่องเม็ก

ด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องเม็ก

แว๊บแรกที่เห็นอาคารด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องเม็กนึกว่าตึกรูปเพชรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เก๋ไก๋ใช้ได้เลย

ช่องเม็ก

ก่อนข้ามไปเราแวะเซเว่นเพื่อซื้อเสบียงและของใช้ที่จำเป็นนิดหน่อย ซึ่งแถวนี้จะมีเซเวนอยู่สองที่ห่างกันไม่ถึงสามร้อยเมตร ซื้อเสร็จจึงไปทำเรื่องข้ามแดนที่ด่านไทย เขียนเอกสารขาออก แล้วก็ผ่านออกมาได้อย่างง่ายดายโดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ช่องเม็ก

จากนั้นจะต้องเดินรอดอุโมงใต้ดิน เพื่อข้ามมายังฝั่งประเทศลาว ระหว่างทางจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาดักรอเสนอขายซิมมือถือ หรือไม่ก็บริการรถรับส่งรับจ้างอยู่เป็นระยะ แต่ที่รู้สึกดีคือพ่อค้าแม่ค้าที่นี่ไม่ตื้อเหมือนที่อื่น แถมยังพูดจานุ่มนวลด้วยเสียงอันแผ่วเบาอีกต่างหาก จนทำเอาเราเกือบใจอ่อน หรือนี่อาจจะเป็นกลยุทธ์การขายอีกรูปแบบหนึ่งก็เป็นไปได้

ช่องเม็ก

หลังจากรอดอุโมงสั่นๆที่สามารถกลั่นหายใจข้ามโดยที่ไม่ขาดอากาศหายใจตายมาได้ ก็มาเจอกับ “ทางออกของประเทศไทย” ที่ใครต่อใครหลายคนกำลังพยายามมองหากันอยู่ ก็อยู่ที่นี่ไงทำไมถึงยังหากันไม่เจอสักที ฟิ้วววววววว

ช่องเม็ก

ด่านตรวจคนเข้าเมืองวังเต่า

การเดินทางครั้งนี้ถือว่าโชคดีมากเพราะเป็นช่วงฤดูฝนที่เราเจอฝนน้อยมาก ตลอดสองวันที่เราอยู่ที่นี่ ท้องฟ้าก็ใสแบบนี้แหละ ข้อดีคือเดินทางสะดวกและถ่ายรูปง่าย แต่ข้อเสียคือร้อนมากกกก (ก.ไก่ ร้อยตัว) เดินเลยมาอีกสักหน่อยก็จะถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองวังเต่า ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาริมถนนทางด้านขวามือ ซึ่งไม่ได้ถ่ายรูปเอาไว้ ส่วนที่เห็นในรูปด้านล่างน่าจะเป็นด่านที่กำลังสร้างขึ้นมาใหม่

ช่องเม็ก

พอถึงตม.ลาวให้ยืนมือเข้าไปหยิบเอกสารผ่านแดนในช่องที่มีเจ้าหน้าที่ตรวจเอกสารนั่งอยู่ช่องไหนก็ได้มาเขียน เสร็จแล้วให้เดินอ้อมไปข้างหลังอาคาร เพื่อยืนเอกสารผ่านแดนและพาสปอร์ตที่ช่องสำหรับชาวต่างหมายเลข 6 พร้อมเงินสด 100 บาทถ้วนสำหรับขาเข้า ส่วนขาออกฟรี แต่ถ้าใครไม่มีพาสปอร์ตสามารถทำเอกสารผ่านแดนชั่วคราวได้ที่ฝั่งไทย แถวแยกไฟแดงก่อนถึงด่านช่องเม็ก ราคาประมาณ 30 บาท อยู่ได้ประมาณ 3 วัน 2 คืน

ปากเซ สปป.ลาว

เมื่อเอกสารทุกอย่างผ่านเรียบร้อยแล้ว เราจึงหยิบเอากระดาษและปากกาเคมีที่ซื้อมาจากฝั่งไทย บรรจงเขียนตัวอักษรคำว่า “ปากเซ” เป็นภาษาลาวลงไปอย่างตั้งใจตามต้นแบบที่แคปมาจากกูเกิ้ล เพื่อนำเอาไปใช้เป็นตัวช่วยในการโบกรถเข้าไปยังตัวเมืองปากเซ ด้วยความที่เราเป็นคนชอบโบกรถเที่ยว แต่ยังไม่เคยโบกที่ต่างบ้านต่างเมือง จึงอยากลองโบกที่ลาวดูสักครั้ง

เหตุผลของการโบกรถนั้นมันมีมากกว่าการช่วยประหยัดงบค่าเดินทาง เพราะมันคือประสบการณ์อันล่ำค่าที่ช่วยฝึกความกล้าหาญ ความอดทน และการเอาชนะความกลัวภายในจิตใจ แถมยังได้มิตรภาพใหม่ๆ ระหว่างทางอีกมากมาย แต่ก็ใช่ว่าอยู่ๆ จะไปยืนโบกกันได้ง่ายๆ นะ ของแบบนี้มันต้องมีเทคนิคกันสักหน่อย เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่จอดรับเราและตัวเราเอง ซึ่งเราเคยลองเขียนบทความเกี่ยวกับเทคนิคการโบกรถเที่ยวเอาไว้เป็นแนวทาง หากสนใจลองเข้าไปอ่านกันดูได้นะ (7 เทคนิค การโบกรถเที่ยว สำหรับ Backpacker มือใหม่ สายประหยัด)

ปากเซ

หลังจากเดินผ่านด่านลาวเข้ามาได้สักระยะก็จะเจอกับตลาดและท่ารถ มีคนกระโกนทักเราด้วยคำว่า “สบายดี” เหมือนกับว่ารู้จักกันมาก่อนหลายรอบมาก หรือเค้าอาจจะคิดว่าเราเป็นดารารึเปล่านะ ไม่ใช่ล่ะ!!! เค้าแค่ตะโกนเรียกเพื่อให้เราไปซื้อของหรือใช้บริการรถประจำทางเข้าเมืองตะหากล่ะ โดยมีทั้งรถตู้และรถสองแถวจอดรออยู่ ทุกสายตาจองมองมาที่เราเหมือนกับว่ากำลังรอเราอยู่คนเดียว ส่วนเรื่องของราคาถ้าเป็นรถตู้จะประมาณ 100 บาท รถสองแถว 80 บาท เลือกได้ตามอัธยาศัย ยกเว้นเรา

ปากเซ

เราเดินเลยท่ารถมาประมาณห้าร้อยเมตร เพื่อมองหาจุดยุธศาสตร์ในการตั้งค่ายยืนรอโบกรถ โดยมีพี่ตี๋ชายชาวลาวมาจอดรถมอเตอร์ไซด์อยู่ข้างถนนใกล้ๆ กับที่เรายืนอยู่เพื่อคอยเป็นกำลังใจให้เรา แต่ความจริงแล้วพี่เค้ามาจอดรอซื้อกล้วยหอมจากรถบรรทุกที่กำลังขนขึ้นรถ เลยมีโอกาสได้พูดคุยกันและอยู่เป็นเพื่อนระหว่างที่เรายังโบกไม่สำเร็จ

พี่ตี๋สงสัยว่าเรามายืนโบกแบบนี้จะมีคนจอดรับหรอ เพราะคนลาวส่วนใหญ่ไม่รู้จักธรรมเนียมแบบนี้ และไม่กล้าจอดรับคนแปลกหน้า เราก็เลยบอกว่าไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่อยากลองดูสักครั้ง และตั้งเป้าเอาไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ถ้าไม่มีใครจอดรับก็จะไปขึ้นรถสองแถวแล้วนะ งอล!!!

รถที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นรถประจำทาง แถมยังบีบแตรทักทายเชิญชวนให้ไปด้วยเกือบทุกคัน ผ่านไปหลายคันจนเราสังเกตุได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าเป็นรถประจำทางป้ายทะเบียนจะเป็นสีขาว ส่วนรถส่วนบุคคลจะเป็นป้ายสีเหลืองซึ่งต่างจากบ้านเรา เราจึงชูป้ายโบกเฉพาะตอนที่รถป้ายสีเหลืองผ่านมาเท่านั้น

ปากเซ

ยืนโบกจนเหงื่อเปียกท่วมหลัง จนเวลาผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง ก็มีรถกระบะคันหนึ่งขับผ่านมา เราจึงรีบชูป้ายไฟ เอ้ย! ป้ายกระดาษเหมือนอย่างเคย และรถคันนั้นก็ขับผ่านไปเหมือนคันอื่นๆที่ผ่านมา แต่ต่างกันที่ว่าเค้าไปจอดอยู่ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร แล้วลงมาจากรถพร้อมกับโบกมือเรียกให้เราไปหา จึงไม่รอช้ารีบวิ่งไปอย่างเร็ว

พอไปถึงก็ยกมือไหว้แล้วกล่าวคำว่า “สบายดี” แบบหอบๆ พร้อมกับถามพี่เค้าว่าผ่านเมืองปากเซไหมจะขอติดรถไปด้วย ซึ่งโชคดีมากที่พี่เค้าผ่านพอดี จึงบอกให้เราขึ้นรถไปนั่งข้างหน้าด้วยกัน แต่เราขอนั่งหลังเพราะอยากชมบรรยากาศสองข้างทาง

ปากเซ

ท้ายรถเต็มไปด้วยข้าวของที่เพิ่งซื้อมาจากฝั่งไทย แต่ก็ยังพอมีพื้นที่ให้เราได้นั่งยืดขาได้อย่างสบายๆ ตลอดสองข้างทางมีทั้งบ้านเรือนและไร่นาสีเขียวของต้นข้าวที่เพิ่งปักดำ ถนนเส้นนี้เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆจึงทำให้รู้สึกสบายก้นมาก นั่งมองไปทางซ้ายทีขวาที บางทีก็ยืนเกาะหัวกระบะเสนอหน้าขึ้นมาโต้ลมเพลินดี

ปากเซ

ระยะเวลาเพียงไม่นานก็มาถึงสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น สะพานที่พาดข้ามแม่น้ำโขงสีช๊อคโกแลตไปยังตัวเมืองปากเซ

ปากเซ

รถขับมาจอดส่งเราที่หน้าตลาดดาวเรือง คนขับชื่อพี่ทูนเป็นชายชาติทหาร ส่วนพี่แววเป็นแม่บ้านที่เปิดร้านขายของชำอยู่แถวบ้าน พี่ทูนยิ้มเก่งและเหมือนจะชอบถูกถ่ายรูป ส่วนพี่แววจะแอบเขิลๆและงงว่าเราถ่ายยังไง ทำไมไม่หาใครมาช่วยถ่ายให้

ปากเซ

แผนที่การเดินทาง

ปากเซ

ตลาดดาวเรือง ปากเซ

“ตลาดดาวเรือง” นอกจากจะมีของขายมากมายแล้วยังเป็นท่ารถประจำทางอีกด้วย ถ้านั่งมาจากด่านวังเต่าก็มาสุดสายที่นี่แหละ

ปากเซ

เนื่องจากที่พักที่เล็งเอาไว้อยู่ค่อนข้างไกล ห่างจากตลาดออกไปประมาณสองกิโล จึงเลือกใช้บริการรถสามล้อของพี่เสื้อลาย

ปากเซ

Vilaysing Guest House

รถมาจอดส่งที่หน้าโรงแรม “Vilaysing Guest House” ซึ่งเป็นโรงแรมที่เราเล็งเอาไว้จากอินเตอร์เน็ต จริงๆแล้วสามารถจองล่วงหน้าได้เลยนะ แต่โรงแรมที่เราเล็งเอาไว้ส่วนใหญ่ราคาไม่แพง และไม่ใช่ช่วงเทศกาล จึงอยากมาดูหน้างานก่อนจ่ายตังค์เท่านั้นเอง

ที่พัก ปากเซ

ห้องที่เล็งเอาไว้เต็ม เหลือห้องใหญ่ห้องสุดท้ายราคาประมาณ 500 บาท แต่เค้าลดให้ร้อยนึง ภายในห้องกว้างมาก มีเตียงสองเตียง นอนได้ประมาณ 3 คน มีทีวี ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น อ่างอาบน้ำ และแอร์ที่เย็นบ้างไม่เย็นบ้าง เรียกได้ว่าราคานี้โคตรคุ้ม แต่นอนคนเดียวโคตรเหงา

ที่พัก ปากเซ

หลังจากเก็บของและอาบน้ำไปหนึ่งรอบ ก็เดินออกมาแลกเงินและเช่ารถมอเตอร์ไซด์ที่ร้านข้างๆที่พัก รุ่น Honda Wave 100 cc สภาพดี ในราคาวันละ 250 บาท ไม่ว่าจะเช่าตอนไหนก็ต้องคืนรถก่อนแปดโมงเช้า แต่เราต่อรองขอคืนเวลาเดิมตอน 10 โมงเช้า พี่เค้าก็โอเค

เช่ามอเตอร์ไซด์ ปากเซ

รถพร้อมคนพร้อมก็ได้เวลาออกแว๊น โดยจุดหมายแรกคือน้ำตกตาดเยื้อง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 37 กิโลเมตร เป็นจุดหมายที่ไกลที่สุดของวันนี้ และถนนค่อนข้างขรุขระจึงต้องขับด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ

เช่ามอเตอร์ไซด์ ปากเซ

ขับมาสักพักรู้สึกว่าล้อหลังเริ่มส่าย จึงจอดลงไปดูปรากฏว่ายางหลังแบน เลยขับตรงมาเรื่อยๆพร้อมกับมองหาร้านซ่อมมอเตอร์ไซด์เพื่อเติมลม ขับมาไกลพอสมควรก็เจออยู่ร้านนึงข้างทาง จึงขับเข้าไปจอดพร้อมถามราคา ตกล้อละประมาณ 5 บาท แต่พอเติมเสร็จกลับบอกว่าฟรีซะงั้น คิดไว้อยู่แล้วว่าคนลาวใจดี

เช่ามอเตอร์ไซด์ ปากเซ

น้ำตกตาดเยื้อง

จากถนนสายหลักจะมีป้ายบอกทางรูปน้ำตกตาดเยื้องตั้งอยู่ข้างทางด้านขวามือ จากนั้นเลี้ยวขวาตามป้ายไปบนเส้นทางลูกรังอีกประมาณสองกิโลก็จะถึงจุดขายตั๋วและที่จอดรถมอเตอร์ไซด์ เดินเข้าไปอีกไม่ไกลก็จะเริ่มได้ยินเสียงของน้ำตก

น้ำตกตาดเยื้อง ปากเซ

หากอยากเห็นน้ำตกไหลลงมาจากหน้าผาจะต้องเดินลงบันไดดินที่ค่อนข้างลื่นลงมาอีกสักหน่อย และจะพบกับศาลาชมน้ำตกที่กำลังอบอวลไปด้วยละอองน้ำ

น้ำตกตาดเยื้อง ปากเซ

จากศาลาสามารถเดินลงไปตามทางเพื่อขึ้นไปยังเนินเขาเล็กๆที่ตั้งตระหง่านประจันหน้ากับน้ำตกพอดี จุดนี้จะสามารถเห็นน้ำตกได้อย่างชัดเจนโดยไม่มีอะไรมาบัง และต้องเดินอย่างระมัดระวังเพราะทางลื่นมาก

น้ำตกตาดเยื้อง ปากเซ

“ตาดเยื้อง” เป็นน้ำตกที่สวยงามและถ่ายยากที่สุดเท่าที่เคยถ่ายมา เพราะน้ำที่ตกลงมาอย่างแรง ประกอบกับสายลมแรงที่พัดเข้ามา ทำให้เกิดอะอองน้ำจำนวนมากลอยขึ้นมาเหมือนพายุฝน เราไปยืนรอหาจังหวะถ่ายรูปตรงเนินเขานั้นจนเปียกไปทั้งตัว และถ้าจังหวะดีมีแสงอาทิตย์ส่องลงมาก็จะเห็นรุ้งกินน้ำชัดเจนมากเหมือนอย่างในรูป

น้ำตกตาดเยื้อง ปากเซ

หลังจากชมน้ำตกจากด้านล่างจนพอใจ จึงเดินกลับขึ้นมาเดินเล่นด้านบนของน้ำตก เพื่อให้ตัวแห้งสักหน่อย

น้ำตกตาดเยื้อง ปากเซ

ด้านบนนี้เหมาะแก่การมาเดินเล่นนั่งเล่นชมวิวแบบชิวๆเป็นอย่างมาก (ก.ไก่ ล้านตัว) โดยมีคนลาวหลายครอบครัวมานั่งปิกนิคกันอย่างสนุกสนาน (ไหนคือคนลาว)

น้ำตกตาดเยื้อง ปากเซ

คนลาวอยู่นี่ไงจะใครเล่า เดี๋ยวจะหาว่าพูดไม่จริง 555

น้ำตกตาดเยื้อง ปากเซ

แผนที่การเดินทาง

น้ำตกตาดเยื้อง ปากเซ

น้ำตกตาดฟาน

เมื่อกลับออกมาจากน้ำตกตาดเยื้อง ให้ขับย้อนกลับมาทางเดิมอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเห็นป้ายบอกทางไปน้ำตกตาดฟาน แต่ที่ป้ายจะเขียนว่า “ตาดฟานลิสอด” อยู่ทางด้านซ้ายมือ พอเลี้ยวเข้าไปให้ขับตรงอย่างเดียวก็จะถึงที่จอดรถและจุดขายตั๋ว

“ตาดฟาน” เป็นน้ำตกที่ยิ่งใหญ่และอลังการที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมาด้วยตาเปล่า เราจ้องมองวิวเดิมๆแบบนี้อยู่นานมาก ดูเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อ ส่วนถ้าใครอยากลงไปดูจากมุมด้านล่างจะต้องมีเวลาอย่างน้อย 1 วันเต็มหรือไม่ก็ลงไปนอนค้างแรมด้านล่าง

น้ำตกตาดฟาน ปากเซ

ขับมอเตอร์ไซด์ตากแดดทั้งวัน รู้สึกกระหายน้ำมาก เลยแวะที่นี่เพื่อเติมน้ำแล้วเอามาดื่มให้ชื่นใจ

น้ำตกตาดฟาน ปากเซ

แผนที่การเดินทาง

น้ำตกตาดฟาน ปากเซ

น้ำตกผาส้วม

จุดหมายต่อไปคือน้ำตกผาส้วม ซึ่งจะต้องขับย้อนกลับไปแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนหมายเลข 20 อีกประมาณ 30 กิโลเมตร ระหว่างทางเรามักจะพยามยามมองหาเสาหลักกิโลเมตรที่ปักอยู่รายทาง แล้วเลือกหลักที่มีมุมสวยๆ เพื่อถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก เพราะเรารู้สึกว่ามันดูมีเสน่ห์และเท่ดี มันคือหนึ่งในความตั้งใจเมื่อครั้งตอนที่ได้เห็นหลักกิโลเมตรแบบนี้จากรูปถ่ายเป็นครั้งแรก

น้ำตกตาดฟาน ปากเซ

ขับแบบเพลินๆจนเกือบเลยทางเข้าน้ำตก หลังจากจอดรถก็เดินเท้าเข้ามาอีกเล็กน้อย ผ่านสะพานเหล็กสีเขียวที่สามารถมองเห็นสะพานไม้ไผ่และน้ำตกอยู่ไม่ไกล

น้ำตกผาส้วม ปากเซ

เดินเข้ามาใกล้อีกนิดก็จะได้ชมความงดงามของน้ำตกอย่างใกล้ชิด ส่วนที่มาของคำว่า “ส้วม” ในชื่อของน้ำตกนั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นที่ขับถ่ายนะ แต่คำว่า “ส้วม” ของลาว หมายถึง ห้องนอนของเจ้าบ่าว-เจ้าสาว หรือห้องหอนั้นเอง

น้ำตกผาส้วม ปากเซ

แผนที่การเดินทาง

น้ำตกผาส้วม ปากเซ

วัดพูสะเหลา

จุดหมายสุดท้ายของวันนี้คือการขึ้นไปดูพระอาทิยต์ตกที่ “วัดพูสะเหลา” ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาใกล้กับตัวเมืองปากเซ แต่ตอนนี้นาฬิกาบอกเวลาห้าโมงเย็น เท่ากับว่ามีเวลาเพียงแค่ประมาณหนึ่งชั่วโมงกับระยะทางอีกประมาณ 40 กิโมเตร เพื่อจะไปให้ทัน

เรียกได้ว่าขับแบบไม่คิดชีวิต ด้วยความเร็ว 60 ชั่วโมงต่อหนึ่งกิโลเมตร เอ้ย!!! นั้นมันหอยทากล่ะ ขับด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขับได้เร็วสุดแค่นี้แหละเพราะถนนไม่ค่อยดี ลืมบอกไปอีกอย่างว่าที่นี่เค้าขับกันเลนขวานะ เราเผลอลืมไปขับเลนซ้ายหลายรอบมาก เลยโดนบีบแตรทักทายเตือนสติอยู่บ่อยๆ

ระหว่างทางขึ้นมาบนวัดเต็มไปด้วยวัยรุ่นหนุ่มสาวจำนวนมากมาวิ่งแก้บนขึ้นเขา(มั่วอีกล่ะ) เค้าแค่มาวิ่งออกกำลังกายกันตอนเย็น นี่ถ้าไม่รีบก็กะว่าจะแวะรับซ้อนขึ้นมาด้วยกันสักคนสองคน 555 ทำเป็นขำไปแต่ความจริงแล้วในใจกับกังวลอยู่แค่เรื่องเดียวคือ “จะขึ้นไปทันได้เห็น พระอาทิตย์กำลังตกดินไหม เพราะมันคือจุดพีคของที่นี่ ถ้าไม่ทันนี่ฝังใจไปจนตายเลยนะเว้ย” ความคิดแบบนี้วนเวียนอยู่ในหัวไม่ยอมหยุด จนสุดท้ายก็ขึ้นมาถึงได้ทันพอดี หันไปมองเข็มนาฬิกาโชว์เวลาหกโมงเจ็ดนาที จึงได้เห็นวิวพาโนราม่าแบบนี้กับตา บอกได้เลยคำเดียวว่า โคตรฟินนนนนน!!!

วัดพูสะเหลา ปากเซ

จุดที่ยืนอยู่นี้เป็นหน้าผาที่มีพระประธานองค์ใหญ่ตั้งตระหง่าน หันหน้าไปทางตัวเมืองปากเซ โดยมีแม่น้ำโขงคันอยู่ระหว่างกลาง พระอาทิตย์ค่อยๆลับขอบฟ้าอย่างช้าๆ เหมือนกับจะรู้ว่าเรากำลังจะมา เลยอยู่รอโดยไม่รีบร้อนหนีไปซะก่อน

วัดพูสะเหลา ปากเซ

ความเหนื่อยล้าทั้งหมดที่ผ่านมาในวันนี้ มันได้หายได้จนหมด เมื่อได้มานั่งพักชมวิวอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะได้คิดทบทวนเรื่องราวต่างๆที่ผ่านมาอย่างช้าๆ มีเวลาได้อยู่กับใจของตัวเองมากขึ้น จนได้รับคำตอบที่ใช่บางอย่างจาก ปากเซ เป็นคำตอบที่บอกใครไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะอธิบายยังไง เพราะคำตอบนั้นรอให้คุณออกไปค้นหาและรับฟังด้วยตัวของคุณเองเท่านั้น

วัดพูสะเหลา ปากเซ

นั่งรอจนแสงสุดท้ายที่ปลายขอบฟ้าลับหายไป จึงค่อยขับรถกลับลงมาที่ตัวเมืองและแวะกลับเข้าที่พัก เพื่ออาบน้ำแต่งตัว ก่อนจะออกไปหาอะไรกิน และสำรวจย่านแสงสีของที่นี่กันสักหน่อย

ร้านที่เราไปกินคืนนั้นเป็นร้านที่ขับไปเจอโดยบังเอิญ เป็นร้านอาหารกึ่งผับที่เต็มไปด้วยวัยรุ่นและวัยทำงาน บรรยากาศโดยรวมถือว่าใช้ได้ แถมมีดนตรีสดที่ส่วนใหญ่จะเล่นเพลงไทยและเพลงสากล แทบจะไม่มีเพลงลาว เราจึงร้องพรึมพรำตามได้เกือบทุกเพลง เราไปคนเดียวเลยสั่งกับข้าวมาสองอย่าง กับเบียร์ลาวที่กินแทนน้ำอีกหนึ่งขวด นั่งกินและฟังเพลงไปเรื่อยๆ อย่างเพลินๆ แต่ในใจนี่โคตรเหงาเลย “กูมาทำอะไรคนเดียวที่นี่ว่ะ”

สักพักก็มีโต๊ะข้างๆ เริ่มจับได้ว่าไอ้หนุ่มคนนี้มันต้องมาคนเดียวแน่ๆ เพราะเห็นว่าเรานั่งอยู่คนเดียวนานแล้ว และไม่เห็นมีเพื่อนมาสักที จึงชวนให้ไปนั่งด้วยกัน แถมยังเลี้ยงเบียร์เราอีกตั้งหาก ด้วยความที่เบียร์ลาวรสชาติค่อนข้างจืดและมีดีกรีไม่มาก คนที่นี่เค้าจึงกินกันทีเป็นลังๆ เดินเข้าห้องน้ำไปฉี่กันเป็นว่าเล่น ส้วมเต็มก็ยังไม่เมา นั่งคุยกันจนร้านเกือบปิดก็แยกย้ายกันกลับ เพราะร้านอาหารหรือผับที่นี่จะปิดค่อนข้างเร็ว ประมาณห้าทุ่มเที่ยงคืนก็ปิดกันหมดแล้ว และแล้วหนึ่งคืนที่ปากเซก็ผ่านไปแบบมึนๆ เพราะฤทธิ์ของเบียร์ลาว

แผนที่การเดินทาง

วัดพูสะเหลา ปากเซ

แผนที่สรุปการเดินทาง

วัดพูสะเหลา ปากเซ

บทที่ 5 : การเรียนรู้ คือ ความเข้าใจ

วันที่สองเรามีแผนออกเดินทางไปยัง “ปราสาทหินวัดพู” (ปราสาทหินวัดพูเป็นโบราณสถานในประเทศลาว ซึ่งเป็นมรดกโลกแห่งที่สองของประเทศลาว เป็นเทวาลัยสร้างถวายพระศิวะเจ้า ตั้งอยู่บนเนินเขาภู หรือเรียกกันว่าภูควาย ห่างจากตัวเมืองเก่าจำปาสักประมาณ 6 กิโลเมตร ลักษณะของปราสาทเป็นเทวสถานขอม คล้ายกับเขาพระวิหาร สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ในสมัยของพระเจ้ามเหนทรวรมัน ถือว่าเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด – วิกิพีเดีย) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองปากเซไปอีกประมาณ 40 กิโลเมตร โดยสามารถไปได้สองเส้นทาง คือ เส้นทางหมายเลข 13 เป็นเส้นทางสายเก่า ถ้าหากมาจากปากเซด้วยเส้นทางนี้จะต้องใช้บริการเรือข้ามฟาก เพื่อข้ามมายังฝั่งเมืองจำปาสัก

เมืองจำปาสัก

ส่วนอีกหนึ่งเส้นทาง คือ ส่วนทางสายใหม่ที่ตัดออกมาจากเส้นทางปากเซ-ช่องเม็ก ถ้ามาจากปากเซให้ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำโขงมาประมาณ 3 กิโลเมตรก็จะเจอสามแยก จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายแล้วขับตรงอย่างเดียวโลด ซึ่งเป็นเส้นทางที่เราใช้ในครั้งนี้

จำปาสัก

ถนนโล่งเพราะไม่ค่อยมีรถสัญจรไปมาสักเท่าไหร่ แถมเป็นถนนลาดยางที่น่าจะเพิ่งทำเสร็จได้ไม่นาน ขับนุ่มสบายก้นมาก วิวสองข้างทางก็โคตรสวย เพราะด้านซ้ายขับขนานกับแม่น้ำโขง ส่วนด้านขวาเป็นทุ่งนาสีเขียวกว้างสุดลูกหูลูกตาขับเพลินมากๆ

จำปาสัก

ก่อนที่จะถึงวัดพูจะต้องผ่านเมืองจำปาสัก เมืองน่ารักเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติและดูเงียบสงบน่าอยู่มาก ยังรู้สึกเสียดายที่ครั้งนั้นมีเวลาค่อนข้างจำกัด เพราะเที่ยววัดพูเสร็จก็ต้องรีบขับรถกลับเอาไปคืนที่ปากเซก่อน 10 โมง จึงทำได้เพียงแค่มองด้วยสายตาละห้อย โดยตั้งใจว่าครั้งหน้าจะต้องให้เวลากับเมืองนี้ เพื่อซึมซับบรรยากาศให้เต็มที่อย่างแน่นอน

จำปาสัก

ปราสาทหินวัดพู

วันนี้อากาศดี ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ต้นไม้ใบหญ้าสีเขียวดูแล้วสบายตา ทำให้รู้สึกสบายใจ

ปราสาทหินวัดพู จำปาสัก

เวลาที่เราไปยืนอยู่ท่ามกลางโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ เรามักจะหลับตาลงแล้วจินตนาการถึงภาพเหตุการณ์ในอดีตของสถานที่นั้นๆ โดยเอามาประกอบกับเรื่องราวที่เคยได้ยินหรือได้อ่านมา เพราะมันทำให้เรารู้สึกกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้นๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ปราสาทหินวัดพู จำปาสัก

ดังนั้น การเยี่ยมชมโบราณสถานจึงควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้นๆ ก่อนที่จะมา เพราะมันจะช่วยทำให้เราได้เข้าใจและซึมซับบรรยากาศของสถานที่นั้นๆ ได้อย่างเต็มที

ปราสาทหินวัดพู จำปาสัก

แผนที่การเดินทาง

ปราสาทหินวัดพู จำปาสัก

หลังจากขับรถกลับมาจากวัดพู ก็รีบเอารถไปคืนและเช็คเอาท์ออกจากโรงแรม ทำทุกอย่างเสร็จก็ประมาณเกือบเที่ยงพอดี จึงหาอะไรกินนิดหน่อย ก่อนออกเดินลัดเลาะริมฝั่งแม่น้ำโขงไปเรื่อยๆ ความแรงของแดดไม่ต้องพูดถึง ข้ามไปเรื่องความดำเลยละกัน

ปากเซ

เดินจนมาเจอร้านอาหารของชาวเวียดนามที่มีระเบียงยืนออกไปจากฝั่งเล็กน้อย เลยตัดสินใจนั่งพักที่นี่ เพื่อชมวิวจากริมฝั่งแม่น้ำโขง พร้อมกับจิบน้ำอัดลมที่ไม่เย็นและไม่ค่อยมีลมให้อัดหนึ่งกระป๋อง

ปากเซ

ลมที่พัดโชยมาตีหน้าเป็นระยะทำให้เกือบเผลอหลับไปหลายรอบ นั่งเฉยๆ อยู่อย่างนั้นเกือบ 2 ชั่วโมง จากนั้นก็แวะไปเดินเล่นที่ตลาดดาวเรืองแบบผ่านๆ โดยที่ไม่ได้ซื้ออะไร เพราะข้าวของที่นี่ก็คล้ายๆ กับตลาดนัดในต่างจังหวัดที่บ้านเรา

ตลาดดาวเรือง ปากเซ

แต่ไฮไลด์ของตลาดที่นี่คือปลาแม่น้ำสดๆ ที่เพิ่งจับมาขึ้นมาได้ แล้วเอามากองขายให้เลือกซื้อกันตามสบายอย่างคึกคัก

ตลาดดาวเรือง ปากเซ

เมื่อถึงเวลาที่จะต้องกลับแล้วจริงๆ จึงเดินต่อมาที่ต้นสะพานข้ามแม่น้ำโขง เพื่อดักรอโบกรถกลับไปที่ด่านช่องเม็กเหมือนอย่างขามา แต่รอบนี้ลืมแคปตัวอย่างภาษาลาวมา จึงเดินเข้าไปในร้านกาแฟดาว เพื่อขอให้พนักงานช่วยเขียนคำว่า “ช่องเม็ก” ลงบนกระดาษให้  ส่วนคำว่า “ขอบใจหลาย” ไม่ได้เขียนลงไป เพราะเราเป็นคนกล่าวไว้

ร้านกาแฟดาว ปากเซ

ขากลับใช้เวลาโบกไม่ถึง 20 นาทีก็มีรถทัวร์คันใหญ่จอดเลยไปนิดหน่อย แล้วยืนมือออกมาโบกเรียกให้วิ่งไปขึ้นรถ โดยเป็นรถของคณะอาจารย์จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ นำทีมโดย ผอ.อ็อด ผู้ชายเสื้อสีเขียวที่ดูท่าทางใจดี ขอขอบพระคุณอีกครั้งนะครับ

ปากเซ

รถคันนี้มีจุดหมายปลายทางที่จังหวัดสุรินทร์ เราจึงสามารถขอติดไปลงได้เกือบถึงตัวเมืองอุบลฯ แต่ด้วยตอนที่เรามาถึงด่านวังเต่าและกำลังทำเรื่องข้ามแดน ได้เจอกับพี่ต้นคนไทยที่ข้ามไปทำงานอยู่ที่ลาว ได้พูดคุยกันเล็กน้อยจึงทำให้ทราบว่าพี่เค้ากำลังจะกลับเข้าตัวเมืองอุบลฯ พอดีและผ่านขนส่งด้วย เราจึงขอติดรถไปกับพี่เค้าอีกต่อหนึ่ง เมื่อทำเรื่องฝั่งลาวและเข้ามาไทยเรียบร้อยแล้ว จึงวิ่งไปบอกกับ ผอ.อ๊อด และลากันที่ด่านช่องเม็ก

จากนั้นก็เดินทางมาถึงขนส่งจังหวัดอุบลฯ พร้อมกับกล่าวขอบคุณและกล่าวลาพี่ต้น ก่อนที่จะต่อรถทัวร์กลับกรุงเทพฯอย่างปลอดภัย โดยมาถึงกรุงเทพประมาณ 6 โมงเช้า รีบกลับเข้าบ้านอาบน้ำแต่งตัวแล้วออกไปทำงานต่อตอน 9 โมง

จึงเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าระยะเวลาเพียงแค่สองวันไม่ใช่ข้อจำกัดของการเดินทางเสมอไป เพราะเราสามารถออกเดินทางเย็นวันศุกร์กลับคืนวันอาทิตย์ถึงเช้าวันจันทร์ ซึ่งเท่ากับว่าเรามีเวลาเที่ยวสองวันเต็มๆ อาจจะดูเหนื่อยแต่สำหรับเราเหมือนได้มาชาร์ตพลังมากกว่า

ที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เหนื่อยที่ร่างกาย แต่ความเหนื่อยเกิดมาจากจิตใจ ดังนั้น การออกเดินทางไปหาคำตอบที่ใช่จาก “ปากเซ” ในครั้งนี้ จึงเป็นการให้จิตใจของเราได้พักผ่อน เพื่อทำให้ “ความสงบ” เกิดขึ้นภายในจิตใจ

แท้จริงแล้วคำตอบนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะทางที่เราไปหรือจุดหมายปลายทางที่เราพบเจอเพียงอย่างเดียว แค่เราอยู่นิ่งๆที่จุดเดิมหรือจุดใดจุดหนึ่งบนโลกใบนี้ก็สามารถพบคำตอบนั้นได้เหมือนกัน แต่เพราะมันทำได้ยากจึงมีน้อยคนนักที่จะสามารถทำแบบนั้นได้ “การเดินทาง” จึงเป็นตัวช่วยให้เราค้นพบ “ความสงบ” ซึ่งเป็นคำตอบที่จิตใจของเราตามหาได้เร็วยิ่งขึ้น . .

คลิปวิดีโอบันทึกการออกเดินทางไปตามหาคำตอบที่ใช่จาก “ปากเซ”

สรุปค่าใช้จ่าย

ค่าเดินทาง

  • รถทัวร์ไปกลับกทม.-อุบลฯ : 1,064 บาท
  • รถตู้ขนส่งอุบลฯ-ด่านช่องเม็ก (เฉพาะขาไป) : 100 บาท
  • สามล้อ : 60 บาท
  • ค่าเช่ามอเตอร์ไซด์ : 250 บาท/วัน
  • ค่าน้ำมัน : 160 บาท

ค่าธรรมเนียม

  • ค่าผ่านแดนลาว (เฉพาะขาเข้า ขาออกฟรี) : 100 บาท
  • ค่าเข้าน้ำตกตาดเยื้อง : 60 บาท
  • ค่าเข้าน้ำตกตาดฟาน : 20 บาท
  • ค่าเข้าน้ำตกตาดผาส้วม : 30 บาท
  • ค่าเข้าชมวัดภู : 220 บาท

ค่าที่พัก : 400 บาท/คืน

ค่าอาหาร : ตามอัธยาศัย

รวมค่าใช้จ่ายสำหรับ 3 คืน 2 วัน 2,464 บาท

คำแนะนำเพิ่มเติม

  • รถตู้ขนส่งอุบลฯ-ช่องเม็ก : เที่ยวแรก 6.00 น. เที่ยวสุดท้าย 18.00 น. ค่าโดยสาร 100 บาท/คน
  • รถบัสขนส่งอุบลฯ-ปากเซ : ขาไปออก 9.30 น. ขากลับออกจากปากเซ 15.30 น. ค่าโดยสาร 200 บาท/คน
  • รถทัวร์กรุงเทพ-ปากเซ : ขาไปออก 20.30, 21.00 น. / ขากลับ 16.00, 17.00 น. (ใช้เวลาเดินทาง 11 ชั่วโมงครึ่ง) ค่าโดยสาร 900 บาท/คน
  • ด่านชายแดนช่องเม็กและด่านวังเต่า เปิดทำการเวลา 08.00 – 20.00 น.

สำหรับใครที่อยากลดระยะเวลาของเดินทางไปและกลับ แนะนำให้เดินทางด้วยเครื่องบินไปลงที่สนามบินอุบลฯ แล้วต่อ Taxi หรือรถตู้มาที่สถานีขนส่ง ราคาประมาณ 60-100 บาท ใครอยากประหยัดค่าเดินทาง ลองดูตั๋วเครื่องบินแอร์เอเชียไม่แพงได้ที่ Traveloka ที่นี่เค้าให้ราคาพิเศษและจ่ายเงินง่าย

LIFE IS A JOURNEY | เพราะชีวิต คือ การเดินทาง…

x Close

LIFE IS A JOURNEY