BACKPACK พม่า มิงกะลาบา เรามากันสองคน ตะลุย ย่างกุ้ง หงสาวดี และไจ่ก์โถ่

MYANMAR4

พม่า

หากพูดถึงประเทศ “พม่า” เราจะนึกถึงอะไรเป็นอันดับแรก? ประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยากับพม่า แรงงานพม่า หรือไม่ก็ทานาคาแน่ๆ แล้วถ้าถามถึงสถานที่ท่องเที่ยวล่ะคุณจะนึกถึงที่ไหน? ขอเปิด Google แป๊บ!!!”

“เฮ้ย!!! โคตรน่าไปเที่ยวเลยว่ะ” คำอุทานแรกในใจหลังจากเห็นรูปภาพสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศพม่า ในอินเตอร์เน็ต ลองค้นหาคำว่า “พม่า” หรือ “Myanmar” ใน Google แล้วเลือกแสดงผลแบบรูปภาพดูสิแล้วจะรู้ว่า “พม่า” สวยแค่ไหน แต่เค้าว่ากันว่าพม่าน่ากลัวและแถมยังลำบากด้วยนะ การเดินทาง ที่พัก และอาหารการกินก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง นั่นดิ เป็นยังไงใครรู้บ้าง? แต่ถึงยังไงก็ยังอยากไปอยู่ดี แบบนี้ต้องออกไปพิสูจน์

จนกระทั่งนกแอร์มีโปรแรงกระแทกใจด้วยราคาไปกลับดอนเมือง-ย่างกุ้งเพียงคนละ 1,780 บาท เลยไม่รอช้ารีบกดจองตอนตีหนึ่งของวันแรกที่เปิดจอง ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าจะไปเที่ยวไหนบ้าง นอนที่ไหนหรือเดินทางยังไง พร้อมกับชวนเพื่อนใจง่ายชวนไปไหนก็ไป ไม่ถงไม่ถามรายละเอียดสักคำอีกหนึ่งคน

การเดินทางครั้งนี้จึงเกิดขึ้นด้วยระยะเวลาทั้งหมด 5 วัน 4 คืน 3 เมือง กับ 2 ชายไทย ที่ไม่ได้จองอะไรล่วงหน้านอกจากตั๋วเครื่องบินและที่พักสำหรับคืนแรก นอกนั้นเรียกได้ว่าไปตายเอาดาบหน้าล้วนๆ อาจจะดูเป็นตัวอย่างที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่สำหรับเรามันคือสีสันและความสนุกอย่างหนึ่งของการเดินทาง

จึงเขียนกระทู้นี้ขึ้นมาเพื่ออยากที่จะแบ่งบันประสบการณ์การเดินทางของพวกเราในครั้งนี้ เพียงหวังว่าจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนๆ ที่หลงรักการเดินทาง ทั้งที่เคยออกเดินทางแล้วหรือยังไม่เคยเริ่มออกเดินทางเลย ไม่ว่าจะเพราะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ได้ลองออกไปสัมผัสเสน่ห์ของประเทศ “พม่า” กันดูสักครั้งในชีวิต ไปทำความรู้จักกับประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ให้มากขึ้น แล้วคุณอาจจะตกหลุมรักแบบไม่ทันได้ตั้งตัว

“สูดหายใจเข้าให้ลึกสุดปอด รวบรวมความกล้าทั้งหมดที่มี แล้วออกเดินทางไปพร้อมกัน”

DAY 1 : ดอนเมือง – ย่างกุ้ง

สนามบินย่างกุ้ง

บินออกจากดอนเมืองไปถึงสนามบินย่างกุ้งใช้ระยะเวลาประมาณ 45 นาที ไปถึงที่นั้นตอน 20.30 หลังจากผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง จึงไปหาที่แลกเงิน ซึ่งภายในสนามบินมีอยู่หลายบริษัท เราเดินดูจนทั่วเพื่อให้ได้เรทที่ดีที่สุด จึงไปจบที่ 970 Kyat / 1 USD และควรแลก THB เป็น USD ที่ไทยมาก่อน เพราะที่นี่ไม่รับแลกเงินไทย เราจึงแลกจากไทยไปคนละ 5,000 THB ได้มาประมาณ 152 USD โดยแลกเป็น Kyat ไว้บางส่วน เพราะบางที่เช่นโรงแรมหรือ Taxi จะรับเป็น USD

สนามบินย่างกุ้ง

Sleep In Hostel

แลกเงินเสร็จรีบวิ่งไปหารถ Taxi เพื่อไปที่พักที่จองไว้ ตัวเลือกเยอะๆมากแต่เรียกราคาแพงๆทั้งนั้น โชคดีเราเจอคนไทยสองคนที่จะเข้าเมืองเหมือนกันเลยตกลงจะแชร์ค่ารถกัน แต่เราต้องลงกลางทางเพราะที่พักของพี่สองคนถึงก่อน แล้วเราต้องไปต่ออีกประมาณครึ่งทาง จะใช้รถคันเดิมแต่เรียกแพงไปหน่อย เราจึงไปโบกรถคันใหม่หน้าโรงแรม เจ้าหน้าที่โรงแรมใจดีเอาไฟฉายมาช่วยโบกเรียกให้ รวมแล้วค่ารถจากสนามบินถึงโรงแรมราคา 6 USD (200 บาท) ถือว่าถูกมาก เพราะปกติถามที่สนามบินเข้ามาตัวเมืองประมาณ 8-10 USD แล้วแต่ต่อรอง

Sleep In Hostel

เราพักกันที่ “Sleep In Hostel” อยู่ใกล้ๆย่านไชน่าทาวน์ ตั้งอยู่ในซอยซึ่งขณะนั้นค่อนข้างมืดและเปลี่ยว มองหาโรงแรมกันอยู่นานเพราะป้ายโรงแรมเล็กมาก ตัวโรงแรมเป็นตึกแถวประมาณ 4-5 ชั้น ราคาคืนละ 300 บาท/คน จองผ่าน Agoda จ่ายตังค์ด้วยบัตรเคดิต แล้วเอาหลักฐานมายื่นตอน Check in ด้านนอกโรงแรมเก่ามาก แต่ด้านในกำลังปรับปรุงใหม่ ห้องพักเป็นแบบ Dorm แยกชายหญิง ภายในห้องมีเตียง 2 ชั้น 4 เตียง มีกล่องเก็บสมบัติพร้อมกุญแจล็อกอยู่ใต้เตียง หมอน ผ้าห่ม และผ้าเช็ดตัวสะอาดใช้ได้ เป็นห้องแอร์ และมี WIFI ความเร็วเต่าให้บริการ แต่ก็สามารถที่จะใช้ติดต่อมาไทยและอัพรูปลง Facebook ได้

Sleep In Hostel

ส่วนห้องน้ำเป็นห้องรวมด้านนอก มีห้องส้วม ห้องอาบน้ำ และอ่างล้างหน้า แต่น้ำไม่ค่อยแรง โดยรวมถือว่าโอเคให้ 8 เต็ม 10

Sleep In Hostel

ไชน่าทาวน์ เมืองย่างกุ้ง

เก็บของเสร็จเลยเดินออกไปหาของกินย่านไชน่าทาวน์ ตอนประมาณเกือบ 5 ทุ่ม

ไชน่าทาวน์ เมืองย่างกุ้ง

ร้านอาหารส่วนใหญ่ปิดกันเกือบหมดแล้ว จะเหลืออยู่ก็แต่ร้านขายผลไม้ริมข้างทาง

ไชน่าทาวน์ เมืองย่างกุ้ง

ร้านจิ้งหรีดทอดก็มี

ไชน่าทาวน์ เมืองย่างกุ้ง

หรือโต๊ะบริการโทรศัพท์เหมือนกับบ้านเราเมื่อ 10 ปีก่อนก็ยังอยู่

ไชน่าทาวน์ เมืองย่างกุ้ง

เราเดินวนหาร้านข้าวอยู่สักพัก จนมาจบที่ร้านข้าวแกงริมข้างทาง

ไชน่าทาวน์ เมืองย่างกุ้ง

อาหารถูกเก็บไว้ในหม้อเล็กๆวางเรียงกันเป็นแถว ต้องเปิดฝาแล้วชโงกหน้าเข้าไปดูเอาเองว่าข้างในมีอะไร ภายใต้แสงไฟสลัวๆ เราเปิดดูครบทุกหม้อ สรุปได้ว่าหน้าตาเหมือนกันหมดจนไม่รู้ว่าข้างในคืออะไร พูดภาษาพม่าก็ไม่ได้ ถามภาษาอังกฤษเค้าก็ไม่รู้เรื่อง จึงใช้ภาษาสุดท้าย นั่นคือ “ภาษามือ” หากอยากรู้ว่าข้างในนั้นคือเนื้ออะไร แนะนำให้ชี้ไปที่หม้อแล้วทำท่ากระพือปีกเหมือนไก่ หรือเอานิ้วชี้สองข้างมาวางไว้บนหัวเหมือนเขาวัว หรือเอานิ้วชี้ไปดันปลายจมูกให้เหมือนหมู หรือเอามือประกบกันแล้วว่ายให้เหมือนปลา ถ้าคนขายพยักหน้าก็แปลว่าใช่ ทีนี้อยากกินอะไรก็เลือกเลย สุดท้ายเราก็ได้ข้าวมาคนละจาน พร้อมกับข้าวมาสองอย่างเป็นเนื้อและหมู ค่าเสียหาย 1600 Kyat (50 บาท)

ไชน่าทาวน์ เมืองย่างกุ้ง

เจดีย์สุเล (Sule Pagoda)

กินเสร็จก็ออกไปเดินย่อยแถวเจดีย์สุเล (Sule Pagoda) เดินวนถ่ายรูปเล่นจนครบหนึ่งรอบแล้วก็กลับ

เจดีย์สุเล (Sule Pagoda)

เจอเด็กน้อยกำลังนั่งทำการบ้าน ระหว่างรอพ่อกับแม่เก็บร้าน

ย่างกุ้ง

ระหว่างทางก็เกิดเรื่องที่ไม่คาดขวัญขึ้น เมื่อเราเดินผ่านกลุ่มชายหนุ่มที่กำลังยืนรอซื้อหมากอยู่มาได้สักระยะ ก็รู้สึกเหมือนมีอะไรตามมาอยู่ข้างหลัง อยู่ใกล้มากจนรู้สึกถึงความปวด

ย่างกุ้ง

รู้ตัวอีกทีข้าศึกก็บุกมาประชิดกำแพงเมืองเป็นที่เรียบร้อย โดนกับข้าวที่กินไปก่อนหน้านี้เล่นงานเข้าซะแล้ว รีบเดินจั้มกลับที่พักอย่างเร็วไวด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อประคองไปให้ถึงที่พักให้ได้ ฮ่าๆ คำเตือน : โปรดใช้วิจารณญาณในการเลือกรับประทานอาหารข้างทาง

ค่าใช้จ่ายวันแรก

  1. ค่าที่พัก : 600 บาท
  2. ค่าเดินทาง : 6 USD (200 บาท)
  3. ค่าอาหาร : 2800 Kyat (86 บาท)

สรุป : 886 บาท/ 2 คน

DAY 2 : ย่างกุ้ง – หงสาวดี – ไจ่ก์โถ่

วันนี้ต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อที่จะไปให้ทันรถไฟไปเมืองหงสาวดี รอบ 6 โมง ซึ่งจริงๆแล้วการเดินทางไปหงสาวดีมีรถทัวร์ให้บริการหลายรอบ และใช้เวลาเร็วกว่า แต่เราเลือกที่จะนั่งรถไฟไปเพียงเพราะอยากที่จะสัมผัสบรรยากาศสองข้างทางอย่างช้าๆ เพื่อที่จะได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตของคนที่นี่อย่างใกล้ชิด และที่สำคัญคือได้ใช้เวลาอยู่กับใจตัวเองให้มากขึ้น

ย่างกุ้ง พม่า

ระยะทางจากที่พักมาที่สถานีรถไฟประมาณ 2 กิโล ถนนตอนเช้าโล่งและอากาศดีมาก

ย่างกุ้ง พม่า

รถเมล์ที่นี่ดีนะสามารถเอารถสามล้อขึ้นไปได้ด้วย (ใช่หรอ!!!)

ย่างกุ้ง พม่า

สถานีรถไฟย่างกุ้ง

เราเดินบ้าง วิ่งบ้าง เลยบ้าง หลงบ้าง สุดท้ายก็มาถึงจนได้

สถานีรถไฟย่างกุ้ง พม่า

แต่น่าเสียดายมาไม่ทันเที่ยวหกโมง รถไฟขบวนนั้นแล่นออกไปต่อหน้าต่อตา

สถานีรถไฟย่างกุ้ง พม่า

ยังดีมีขบวนถัดไปเวลา 7.15 น. ขบวนที่ 89 เลยรีบไปต่อแถวซื้อตั๋ว โดยใช้แค่พาสปอร์ตและต้องจ่ายเป็นเงิน Kyat เท่านั้นนะ ราคาค่าตั๋วคนละ 600 Kyat (18 บาท) สามารถตรวจสอบตารางการเดินรถเพิ่มเติมได้ที่ www.seat61.com

สถานีรถไฟย่างกุ้ง พม่า

ก่อนรถไฟจะออกยังพอมีเวลาเลยไปเดินหาซื้อข้าวเช้า ขนม และน้ำดื่มแถวสถานีมารองท้อง และที่สำคัญแม่ค้าที่นี่น่ารักด้วยนะ

สถานีรถไฟย่างกุ้ง พม่า

รู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้นั่งรถไฟ “พม่า” เป็นครั้งแรก ระหว่างรอได้แต่นั่งมองไปที่เข็มนาฬิกาว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาซะที จนรู้สึกว่าทำไมเวลาวันนี้เดินช้าจัง ทั้งๆที่เข็มนาฬิกาก็เดินเป็นปกติดี เพราะแบบนี้สินะที่เค้าบอกว่าความรู้สึกทำให้เวลาของคนเราเดินช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน

สถานีรถไฟย่างกุ้ง พม่า

พอรถไฟเข้าเทียบชานชาลา พวกเราไม่รอช้าที่จะออกไปตามหาโบกกี้เป้าหมาย โดยได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่รถไฟที่ช่วยพาเราไปส่งถึงที่นั่งเลยทีเดียว อยากบอกเป็นภาษาพม่าว่า “ใจพี่หล่อมาก” แต่พูดไม่เป็นเลยพูดแค่ว่า “เจซูติน บาแด” แปลว่า ขอบคุณ

สถานีรถไฟย่างกุ้ง พม่า

เพื่อนร่วมทางของพวกเราเป็นชาวพม่าทั้งขบวน แต่เรากลับได้ยินเสียงภาษาไทยพูดว่า “ คนไทย?” เป็นเสียงจากหลวงพี่ท่านหนึ่งที่มาส่งญาติขึ้นรถไฟ บทสนทนาภาษาไทยจึงเริ่มต้นขึ้น ทำให้ทราบว่าหลวงพี่ท่านนี้เคยไปทำงานที่เมืองไทย แถวๆคลองหก จ.ปทุมธานี แต่ลูกชายเสียชีวิตเลยกลับมาบวชที่พม่า แล้วจะกลับไปทำงานที่เมืองไทยอีกในอนาคต หลวงพี่ท่านนี้ชื่อว่า “โกโก้ วางวาง” ส่วนอีกคนขวามือชื่อว่า “สตา” เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆก่อนรถไฟจะออก เราได้เรียนรู้ภาษาพม่าเกือบสิบคำ เช่น “อะโก/อะมะ” แปลว่า พี่ชาย/พี่สาว “นีเร / นีมาเร” แปลว่า น้องชาย / น้องสาว หรือ “นาแมแปโรคอแร” แปลว่า คุณชื่ออะไร เป็นต้น (ไม่แน่ใจว่าถูกไหมเพราะพิมพ์ตามที่ได้ยินในวันนั้น ถ้าผิดต้องขออภัยด้วยนะ) ก่อนจากกันหลวงพี่ยังชวนว่าถ้ากลับมาที่ย่างกุ้งอีกให้ไปนอนค้างที่วัดได้ แต่ผมกลับจำชื่อวัดที่หลวงพี่บอกไม่ได้ อดนอนวัดเลยเสียดายมาก

สถานีรถไฟย่างกุ้ง พม่า

รถไฟค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากชานชาลาอย่างช้าๆ ความตื่นเต้นค่อยๆเพิ่มขึ้นตามความเร็วของรถไฟ

สถานีรถไฟย่างกุ้ง พม่า

ตั๋วรถไฟที่ขอยืมมาจากเพื่อนร่วมทางคลาสสิคมาก

ตั๋วรถไฟ

ช่วงแรกๆยังเป็นเขตเมือง แต่ไม่ค่อยมีตึกสูงสักเท่าไหร่ บ้านริมทางรถไฟส่วนใหญ่ทำด้วยสังกะสีหรือไม่ก็ใบจาก

รถไฟ พม่า

รถไฟ รถไฟมา ตา ตามารถไฟ?

รถไฟ พม่า

รถไฟที่นี่ไม่กระแทกขึ้นลงแรงเหมือนเมืองไทย แต่จะโยกขึ้นลงเป็นเคิร์ฟอย่างนุ่มนวล โดยพื้นของโบกี้รถไฟทำด้วยไม้

รถไฟ พม่า

มีทีวีจอแบนส่วนตัวขนาด 40 นิ้วทุกที่นั่ง ถ่ายทอดสดบรรยากาศด้านนอกแบบ 4 มิติ

รถไฟ พม่า

สักพักเริ่มเป็นทุ่งนา แต่เสียดายที่มาช่วงหน้าแล้ง เลยไม่ค่อยได้เห็นแปลงนาสีเขียวๆ จริงๆเราได้รับแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากลองมานั่งรถไฟพม่า จากรายการหนังพาไปตอนที่พี่บอลพี่ยอดนั่งกลับจากเมืองมะละแหม่งเพื่อไปเมืองย่างกุ้งดูแล้วรู้สึกอิน

รถไฟ พม่า

โชคดียังพอมีแปลงนาสีเขียวๆ แถมด้วยน้องควายฝูงย่อมๆ ให้ได้เห็นอยู่บ้าง

รถไฟ พม่า

บางคนก็ออกมานั่งตากลมริมบันไดทางลง

รถไฟ พม่า

ส่วนเราก็เดินออกสำรวจไปทั่วๆ ทั้งขบวน

รถไฟ พม่า

ที่นั่งแบบนี้ (upper class) จะราคาแพงขึ้นมาหน่อย ประมาณ 1,150 Kyat (35 บาท) เหมาะกับการนั่งระยะทางไกล

รถไฟ พม่า

เหตุผลที่รถไฟพม่าไม่เลทเหมือนรถไฟไทย เพราะว่ามีรางคู่ขนาน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลารอสับราง ช่วยให้เข้าใจรถไฟไทยมากขึ้น

รถไฟ พม่า

การลงแขกเกี่ยวข้าวมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ

รถไฟ พม่า

และสิ่งที่ผมอยากเห็นมากๆ ที่นี่ก็คือ วัวหรือควายเทียมเกวียน ที่ยังมีการใช้งานกันอยู่อย่างเป็นปกติ พอได้เห็นของจริงที่มีการใช้งานจริงแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปในอดีต อยากจะกระโดดลงไปขอนั่งด้วยเลยทีเดียว

เกวียน พม่า

อดสงสัยไม่ได้ว่าพี่เค้ากำลังคิดถึงอะไรอยู่ คิดถึงจุดหมายปลายทางหรือคิดถึงคนที่รออยู่ที่จุดหมายปลายทางกันนะ

รถไฟ พม่า

สถานีรถไฟหงสาวดี

ผ่านไปประมาณ 2 ชม. ก็มาถึงยังสถานีหงสาวดี โดยมีพี่สตาช่วยเตือนให้เมื่อใกล้ถึงสถานี

สถานีรถไฟหงสาวดี

เซลฟี่กับชาวบ้านเป็นที่ระลึกกันสักเล็กน้อย แต่ดูเหมือนไม่มีใครสนใจกล้องเลย น่าจะคงกำลังยุ่งๆ กันอยู่

สถานีรถไฟหงสาวดี

“เจซูติน บาแด อะโก สตา” แปลว่า ขอบคุณมากนะครับพี่สตา

สถานีรถไฟหงสาวดี

การเดินทางด้วยรถไฟของพวกเราจบลงที่สถานีนี้ แต่การเดินทางสำหรับน้องคนนี้เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น

สถานีรถไฟหงสาวดี

ทุกย่างก้าวของการเดินทางมักจะพบกับการจากลา เพื่อให้เกิดการเดินทางครั้งใหม่ของผู้ที่จากไป

สถานีรถไฟหงสาวดี

ระหว่างที่กำลังจะเดินออกจากสถานี มีวัยรุ่นชายหนุ่มชาวพม่า 2 คน เดินเข้ามาหาแล้วสาดภาษาอังกฤษใส่เพื่อถามพวกเราว่าจะไปเที่ยวที่ไหน พักที่ไหน กินอะไรมารึยัง เราบอกว่าจะหารถต่อไปเมืองไจ๊ก์โถ น้องเค้าเลยบอกว่ารู้จักกับที่ขายตั๋วและจะอาสาพาไป พวกเราก็รู้แหละว่าเป็นนายหน้า แต่น้องเค้าบอกว่าจะพานั่งมอเตอร์ไซด์ไปฟรี พวกเราก็เลยไม่ปฏิเสธรีบกระโดดขึ้นซ้อนท้ายคนละคันอย่างไม่รอช้า

สถานีรถไฟหงสาวดี

ผ่านย่านชุมชนตรงไหนสักแห่งของแผนที่ บนถนนลูกรังกลางแดดที่ร้อนระอุ

หงสาวดี

จนทะลุออกมายังถนนสายหลักที่มีการจราจรคับคลั่ง มีเสียงแตรดังตลอดเวลาเป็นปกติ โดยที่ไม่มีใครทะเลาะกัน และได้มาลงที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งด้านหน้าร้านเป็นซุ้มขายตั๋วรถทัวร์ จากที่อ่านรีวิวมาเค้าบอกว่าราคาค่าตั๋วจากหงสาวดีไปเมืองไจ่ก์โถ่ ไม่ควรเกิน 5,000 Kyat เพราะระยะทางไม่ไกลมาก แต่ด้วยนะตอนนั้นเราไม่รู้ว่าท่ารถที่ขายตั๋วราคาปกติอยู่ตรงไหน และน้องเค้าก็อุตส่าพามาซื้อตั๋วและจะพาไปกินข้าว แล้วยังจะรอรับพวกเราไปส่งที่ท่ารถอีกก็เลยตัดสินใจซื้อตั๋วที่นี่ในราคาคนละ 7,000 Kyat (200 บาท) ต่อจาก 8,000 Kyat ที่ราคาเท่านี้เพราะบวกเซอร์วิสชาร์จดีดีนี่เอง

หงสาวดี

อาหารที่เราเลือกกินเกือบทุกมื้อจะเป็นข้าวผัด เพราะราคาถูกสุดแล้ว แถมยังได้เยอะ กินมื้อนึงก็อยู่ได้เกือบวัน ประหยัดดี

หงสาวดี

หลังจากกินอิ่มจนเกือบนอนหลับ น้องสองคนก็ขับพาเรามาส่งขึ้นรถตามสัญญา แถวนี้แหละน่าจะเป็นท่ารถ ไกลจากสถานีรถไฟอยู่เหมือนกัน

รถบัส หงสาวดี

รถคันนี้มาจากย่างกุ้ง โดยจะแวะรับคนตามเมืองสำคัญๆ อย่างหงสาวดี ซึ่งเหลือที่นั่งไม่มากพวกเราเลยได้นั่งแถวหลังสุด

รถบัส หงสาวดี

ระหว่างทางจะมีแวะพักเข้าห้องน้ำและทานอาหาร ซึ่งรถของเราแวะนานหน่อยเพราะมัวเสียเวลาไปกับการซ่อมแอร์ที่ไม่ค่อยจะเย็น การแวะพักครั้งนี้ทำให้เราสองคนได้พบกับพี่คนไทยสองคนที่นั่งมาคันเดียวกัน และมีจุดหมายเดียวกันคือ พระธาตุอินทร์แขวน เรานั่งคุยกันจนได้ทราบว่าพี่เค้าเป็นเจ้าของรีสอร์ทแห่งหนึ่งที่วังเวียง ประเทศลาว รีสอร์ทที่ใครหลายๆ คนชอบไปถ่ายรูป เพราะมีเอกลักษณ์เป็นสะพานไม้พาดผ่านแปลงนาสีเขียวเข้าไปยังห้องพัก โดยมีพื้นหลังเป็นภูเขาสูงแห่งวังเวียง

เมืองไจ่ก์โถ่ (Kyaikhto)

ผ่านไปประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง ก็มาถึงเมืองไจ่ก์โถ่ และลงที่คินปุนเบสแคมป์ (Kinpun Base Camp) จากนั้นพวกเราก็แยกย้ายกันไปหาที่พักเพื่อเก็บของ แล้วนัดเจอกันที่ท่ารถเพื่อขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุอินทร์แขวนพร้อมกัน

เมืองไจ่ก์โถ่

พี่เค้าจองห้องไว้แล้วล่วงหน้า แต่เราสองคนยังไม่ได้จอง เลยลองไปเดินหาดูแถวๆ นั้น ซึ่งส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างแพง จนเจออยู่ที่หนึ่งซึ่งด้านหน้าเป็นร้านอาหารแต่ด้านหลังเป็นห้องพักลักษณะคล้ายๆห้องแถว ราคาคืนละ 10,000 Kyat (300 บาท) ประหยัดไปได้เยอะ เหมาะสำหรับผู้ชายขาลุยค่ำไหนนอนนั้นอย่างพวกเราสองคนเป็นที่สุด

ที่พัก เมืองไจ่ก์โถ่

ภายในห้องมีมุ้ง ที่นอน หมอน ผ้าห่ม และพัดลมให้ นอนได้ประมาณ 3-4 คน แต่ฝุ่นค่อนข้างเยอะ

ที่พัก เมืองไจ่ก์โถ่

ด้านหลังที่พักมีห้องอาบน้ำแบบอ่างรวม แต่แยกชายหญิง และมีห้องส้วมแยกต่างหากอีกสองห้อง ถึงแม้ว่าที่นี่จะไม่มีบริการอาหารเช้า แต่มีบริการทาแป้งทานาคาให้ฟรี และยังใจดีให้ยืมโสร่งได้

ที่พัก เมืองไจ่ก์โถ่

จัดการเรื่องที่พักเสร็จแล้ว ก็ออกไปเจอกันที่ท่ารถตามที่นัดหมาย จากสองคนไทยเพิ่มมาเป็นสี่คนรู้สึกอุ่นใจเพิ่มขึ้น รถที่จะขึ้นไปด้านบนเป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก กระบะหลังถูกปรับแต่งเป็นที่นั่งแถวยาวประมาณ 6 แถว บางคันก็มีราวจับด้านหน้าที่นั่งบางคันก็ไม่มี นั่งได้แถวละประมาณ 5-6 คน ราคาเที่ยวละ 2500 Kyat (75 บาท) ต่อคน

เมืองไจ่ก์โถ่

เส้นทางค่อยๆ ชันขึ้นเรื่อยๆ ถนนมีสองเลนสวนกันไปมาหวาดเสียวดี โค้งก็เยอะ โยกไปซ้ายทีขวาทีพร้อมมีเสียงหัวเราะ และโหร้องด้วยความตื่นเต้นประกอบตลอดทาง บรรยากาศศึกครึ้นมาก ทุกคนดูสนุกสนานและเวียนหัวในเวลาเดียวกัน

เมืองไจ่ก์โถ่

สองข้างทางเป็นป่าไม้ บางช่วงผ่านน้ำตก อากาศเย็นสบาย ยิ่งสูงขึ้นยิ่งได้เห็นวิวสวยๆ

เมืองไจ่ก์โถ่

พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจ่ก์ทิโย

ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่งโมงก็มาถึงด้านบนอย่างปลอดภัย สวดมนต์ไปหลายรอบอยู่เหมือนกัน ที่ท่ารถจะมีชาวบ้านมาค่อยให้บริการเสลี่ยงและตะกร้าเพื่อขนกระเป๋าเข้าที่พัก แต่ไม่รู้ว่าราคาเท่าไหร่นะ

พระธาตุอินทร์แขวน

“Travelers never think that they are the foreigners” – Mason Cooley

เราพยายามจะทำตัวกลมกลืนกับคนพม่าให้มากที่สุด หน้าตาและการแต่งกายพอได้แล้วเหลือฝึกภาษาพม่าอีกนิด ฮ่าๆ

พระธาตุอินทร์แขวน

ก่อนเข้าไปสักการะองค์พระธาตุ ต้องแวะไปซื้อตั๋วเข้าชมก่อนนะ ราคาคนละ 6,000 Kyat (185 บาท) และเดินไปอีกไม่ไกลก็จะสามารถมองเห็นองค์พระธาตุอินทร์แขวนตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่ปลายหน้าผา

พระธาตุอินทร์แขวน

ผู้หญิงพม่าส่วนใหญ่จะแต่งชุดสวยๆกันเกือบทุกคน เรียกได้ว่าไม่มีใครยอมใครเลยจริงๆ ส่วนคุณป้าท่านนี้มีพร็อพเก๋ดี

พระธาตุอินทร์แขวน

สิ่งที่สัมผัสได้ทันทีเมื่อมาถึงที่นี่หรือที่วัดอื่นๆก็คือ ความศรัทธาของชาวพม่าที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด

พระธาตุอินทร์แขวน

ยิ่งพอได้เข้ามาสักการะใกล้ๆองค์พระธาตุยิ่งรู้สึกได้ถึงความศักดิ์สิทธ์ และความสวยงามขององค์พระธาตุที่มีสีทองอร่ามทั่วทั้งองค์ ตั้งอยู่บนขอบของหน้าผาอย่างหมิ่นๆ จากที่ดูด้วยสายตาไม่น่าจะตั้งอยู่แบบนั้นได้เลยด้วยซ้ำ มหัศจรรย์มากๆ

พระธาตุอินทร์แขวน

เดินถ่ายรูปเล่นและชมบรรยากาศรอบๆ กันอย่างเพลิดเพลิน ถ่ายกันจนแบตกล้องเกือบหมด

พระธาตุอินทร์แขวน

ยิ่งตอนพระอาทิตย์กำลังจะตกยิ่งสวยมากๆ จนแทบไม่อยากจะหันหลังกลับ แต่พอหันมาดูนาฬิกาอีกที 17.50 น. ซวยแล้ว!!! รถเที่ยวสุดท้ายหมด 6 โมง วิ่งสิครับวิ่งจะรออะไร!!!

พระธาตุอินทร์แขวน

สุดท้ายก็ไม่ทัน!!! พวกเราพยายามไปสอบถามคนแถวนั้นว่ามีรถใครหรือรถอะไรที่จะลงไปอีกไหม คำตอบเดียวที่ได้คือ ไม่มี!!! รถที่นี่ออกตรงเวลาหมดแล้วหมดเลย เพราะการลงไปตอนกลางคืนมันอันตรายมากไม่มีใครอยากลงไปถ้าไม่จำเป็นจริงๆ คือตอนนั้นรู้สึกผิดมากนึกถึงที่ไรก็ยังรู้สึกผิดไม่หายที่ทำให้พี่ทั้งสองคนที่ขึ้นมาพร้อมกันตกรถไปด้วย เพราะเรามัวแต่ถ่ายรูปกันจนเพลิน ไม่ควบคุมเวลาให้ดี และคิดว่าจะไปทันรถเที่ยวสุดท้าย ที่พักและของใช้ทุกอย่างอยู่ด้านล่าง เหลือแค่ตัวกับตังค์ ลำพังที่พักเราคงไม่เท่าไหร่ แต่ของพี่ๆ เค้าหลายบาทอยู่ กลับต้องเสียตังค์ฟรีแล้วมาลำบากอยู่ข้างบนกับพวกเรา ขอโทษอีกครั้งนะครับ

เมื่อทำใจได้แล้วว่ายังไงก็ไม่สามารถลงไปได้ ต้องรออีกทีตอนเช้า คืนนี้คงต้องนอนกันที่นี่ จึงเดินออกไปหาที่พักซึ่งส่วนใหญ่เต็มหมด จะเหลือก็แต่ที่พักใกล้ๆ ทางเข้าวัด ไม่แน่ใจว่าเป็นของชาวบ้านหรือของวัด ตั้งอยู่ริมหน้าผา มีเตียงเล็กๆ พร้อมห้องน้ำในตัว และไม่มีพัดลมแต่ตอนกลางคืนหนาวกว่าห้องแอร์ ราคาคืนละ 40,000 Kyat (1,200 บาท) อุตส่าตั้งใจว่าทริปนี้จะพักให้ถูกที่สุด กลับต้องมาเสียเงินเพราะความไม่ตรงต่อเวลาของเราเอง เฮ่อ!!!

ที่พัก พระธาตุอินทร์แขวน

นั่งหน้าเศร้านับเงินในกระเป๋าแล้วออกไปหาอะไรกินแถวนั้น เดินหาอยู่หลายร้านส่วนใหญ่ก็ปิดหมด จะเหลือก็แต่ร้านของชาวบ้านที่มีมาม่าของไทยขายอยู่ คืนนี้เลยได้กินเมนูยอดนิยมของคนไทยตอนใกล้สิ้นเดือน คืนนี้อากาศดีและเย็นสบายมาก มีหมอกลอยผ่านไปมาอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งคิดว่าไฟไหม้บ้านใครที่ไหนรึเปล่า

พระธาตุอินทร์แขวน

ที่นี่ยิ่งดึกกลับยิ่งคึกคัก มีคนออกมาสักการะองค์พระธาตุมากกว่าเมื่อตอนเย็นหลายเท่า บางคนก็เตรียมหมอนและผ้าห่มมานอนตากน้ำค้างเรียงรายกันอยู่บนลานกว้างๆ มุมใครมุมมันโดยที่ไม่มีมุ้งหรือหลังคากั้น ผมนี่อึ้งเลยว่านอนหลับกันไปได้ยังไง เพราะส่วนใหญ่ชาวพม่าที่มากันที่นี่เดินทางมาจากต่างเมืองใกล้บ้างไกลบ้างเลยต้องนอนค้าง เพื่อจะตื่นมาทำบุญใส่บาตรในตอนเช้า จริงๆ ที่นี่มีศาลาเอนกประสงค์ให้คนเข้าไปนอนได้ฟรี แต่เต็มหมดเลยต้องออกมานอนตากน้ำค้างกันอยู่ข้างนอก สุดยอดแห่งความศรัทธา

พระธาตุอินทร์แขวน

ประสบการณ์ของการนอนค้างคืนข้างบนนี้ช่วยย้ำเตือนให้เราตรงต่อเวลามากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เราได้ขึ้นมาสัมผัสบรรยากาศข้างบนนี้ตอนกลางคืนและตอนเช้า เพราะข้างบนนี้วิวสวยและอากาศดีมากๆ

ค่าใช้จ่ายวันที่ 2

  1. ค่าที่พัก : 60,000 Kyat (1,800 บาท)
  2. ค่าเดินทาง : 19,000 Kyat (550 บาท)
  3. ค่าอาหาร : 4200 kyat (125 บาท)
  4. ค่าเช้าชม : 12,000 Kyat (360 บาท)

สรุป : 2,835 บาท/ 2 คน

DAY 3 : ไจ่ก์โถ่ – หงสาวดี

พยายามขุดตัวเองให้ลุกตื่นจากที่นอนท่ามกลางอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า พร้อมด้วยผ้าห่มคลุมตัวคนละผืน เพื่อออกมาดูพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางทะเลหมอกบริเวณดาดฟ้าของที่พัก ก่อนจะเดินขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุอินทร์แขวนอีกครั้งก่อนกลับลงไปข้างล่าง

พระธาตุอินทร์แขวน

บรรยากาศของผู้คนบริเวณวัดในตอนเช้ายังคงหนาแน่นและคึกคักไม่แพ้เมื่อคืน บางส่วนก็เริ่มทยอยกลับลงไปข้างล่าง

พระธาตุอินทร์แขวน

ก่อนกลับจะซื้อของเล่นไปเป็นของฝาก

พระธาตุอินทร์แขวน

หรือจะรับหมากไปเคี้ยวเล่นสักคำก็ได้นะ

พระธาตุอินทร์แขวน

รถพร้อมคนพร้อมก็เดินทางกลับ รถที่เรานั่งลงไปรอบนี้ไม่มีราวจับด้านหน้าของแต่ละแถว มีเพียงราวจับด้านข้างรอบรถเท่านั้น พวกเราเลยต้องใช้วิธีการเกาะแขนกันซ้ายขวา หรือไม่ก็เกาะไหล่คนข้างหน้า จากคนที่ไม่เคยรู้จักกันก็เริ่มยิ้มให้กัน และรอบนี้ไม่ใช่แค่โยกซ้ายหรือขวา แต่แถมโยกไปข้างหน้าและโยกไปข้างหลังด้วย โยกทีก็หัวเราะที เป็นมิตรภาพที่มาพร้อมกับความสนุก ถึงแม้ว่าเราจะคุยกันไม่รู้เรื่องแต่เราก็สามารถสื่อสารกันได้ด้วยสีหน้าและท่าทาง

พระธาตุอินทร์แขวน

เมื่อลงมาถึงด้านล่างก็รีบกลับไปอาบน้ำและเก็บของ เพื่อจะต่อรถกลับไปเที่ยวเมืองหงสาวดีอีกครั้ง จริงๆ เราสามารถนั่งรถทัวร์จากเมืองย่างกุ้งตรงมายังเมืองไจ๊ก์โถได้เลย โดยไม่ต้องแวะหงสาวดี แต่ที่เราทำแบบนั้นเพราะแค่อยากลองนั่งรถไฟของพม่าเท่านั้นเอง ส่วนขาเรากลับขึ้นรถที่ต้นสาย ค่ารถคนละ 4500 Kyat (140 บาท) แบบไม่โดนหักค่านายหน้า

พระธาตุอินทร์แขวน

แม่น้ำสะโตง

ระหว่างทางเราจะต้องข้ามสะพานที่พาดข้าม “แม่น้ำสะโตง หรือ แม่น้ำซิตอง” ที่มาของตำนานพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง จังหวะนั้นรู้สึกตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก พยายามจินตนาการถึงภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนะตอนนั้น

แม่น้ำสะโตง พม่า

เจดีย์ชเวมอว์ดอว์ (Shwemawdaw Pagoda)

พอลงจากรถก็เจอคนขับรถสามล้อ หลังจากพูดคุยตกลงราคากันเรียบร้อยก็ได้ความว่าจะพาเราเข้าเมืองในราคา 2,000 Kyat (60 บาท) แล้วพาเข้าไปไหว้เจดีย์ชเวมอว์ดอว์ (Shwemawdaw Pagoda) หรือ พระธาตุมุเตา โดยเสียค่าเข้าชมแบบครั้งเดียวราคาคนละ 7,000 Kyat (215 บาท) ปกติจะมีการขายตั๋วแบบเหมาราคาเดียวเที่ยวได้ทุกวัดทั่วหงสาวดีประมาณ 10 USD แต่พี่เค้าบอกว่าวัดอื่นส่วนใหญ่ไม่เก็บค่าเข้าชม ส่วนถ้าวัดไหนเก็บค่าเข้าชมจะพาเข้าไปตอนที่เลยเวลาเก็บค่าเข้าชมแล้ว จึงแนะนำเราว่าไม่ต้องซื้อแบบเหมาก็ได้

เจดีย์ชเวมอว์ดอว์ (Shwemawdaw Pagoda) หรือ พระธาตุมุเตา

พอดีเป็นช่วงเที่ยงแดดร้อนมาก แล้วยิ่งต้องถอดรองเท้าเดินด้วย วิ่งหาที่ร่มกันแทบไม่ทัน

เจดีย์ชเวมอว์ดอว์ (Shwemawdaw Pagoda) หรือ พระธาตุมุเตา

หลังจากสักการะพระธาตุมุเตาเสร็จแล้วรถสามล้อก็พาพวกเราไปกินข้าว และส่งพี่ๆ ทั้งสองคนขึ้นรถกลับย่างกุ้ง จากนั้นก็พาเราไปหาที่พัก ซึ่งอยู่ห่างจากท่ารถประมาณ 2 กิโล เป็นโรงแรมใหม่ที่มีชื่อว่า Amara Gold Hotel สถาพดีมีทีวี WIFI และเป็นห้องแอร์ ราคาคืนละ 15,000 Kyat (460 บาท) จากนั้นประมาณ 4 โมงเย็นเรานัดกับน้องชายและลูกชายของคนขับรถสามล้อให้มารับ เพื่อขับมอเตอร์ไซด์พาเที่ยวรอบเมืองหงสาวดีในราคาเหมาคันละ 6,000 Kyat (180 บาท) จำนวน 2 คัน อยากไปไหนก็ได้ตามใจเรา

เจดีย์ชเวมอว์ดอว์ (Shwemawdaw Pagoda) หรือ พระธาตุมุเตา

เจดีย์ฮินตะกอง (Hintha Gon Pagoda)

สถานที่แรกที่แว้นไปคือ เจดีย์ฮินตะกอง (Hintha Gon Pagoda) หรือวัดหงส์คู่ ซึ่งเอกลักษณ์ของวัดคือรูปหงส์ตัวเมีย (Hansa ) เกาะอยู่บนหลังหงส์ตัวผู้(Hintha) ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษญ์ของเมืองหงสาวดี

เจดีย์ฮินตะกอง (Hintha Gon Pagoda)

เนื่องจากที่ตั้งของวัดอยู่บนเนินเขา ทำให้สามารถมองเห็นวิวพระธาตุมุเตาได้จากระยะไกล

เจดีย์ฮินตะกอง (Hintha Gon Pagoda)

Shwetaungyoe Pagoda

วัดที่ 2 คือ Shwetaungyoe Pagoda ไม่มีในไกด์บุ๊ค อยู่ไม่ไกลจากวัดแรก มีเด็กน้อยมายืนคอยแย่งกันขายดอกไม้ เราเลยให้เป่ายิ่งฉุบกัน ใครชนะเราจะซื้อ แต่สุดท้ายก็ซื้อของทุกคน

Shwetaungyoe Pagoda

วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงกว่าวัดแรก ด้านบนเป็นองค์เจดีย์ มีลานโล่งกว้างอยู่รอบๆ สามารถมองเห็นวิวได้แบบพาโรนาม่า

Shwetaungyoe Pagoda

และแลนด์มาร์คที่สามารถมองเห็นได้จากทุกที่ก็คือองค์พระธาตุมุเตา

Shwetaungyoe Pagoda

ลงมาจากวัดก็แว้นกันต่อ เข้าไปในซอยเล็กๆ ผ่านย่านชุมชน เพื่อจะไปยังพระราชวังบุเรงนอง

Shwetaungyoe Pagoda

พระราชวังบุเรงนอง

แต่มาไม่ทันเพราะปิดไปซะก่อน ดูจากไกลๆไปก่อนละกัน โดยมุมนี้เป็นด้านข้างของพระราชวัง

พระราชวังบุเรงนอง

ริมกำแพงของพระราชวังมีถนนเส้นเล็กๆเป็นเส้นทางสัญจรเข้าออกของชาวบ้านแถวนั้นซึ่งเต็มไปด้วยกองขยะ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปเกือบทุกเมือง ด้วยอาจจะเป็นเพราะความเจริญทางด้านวัตถุที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยที่ยังไม่มีการบริหารจัดการที่ดีมารองรับ

พระราชวังบุเรงนอง

แว้นกันต่อไปยังวัดที่ 4 ซึ่งอยู่ไกลหน่อย คนที่นี่เค้าขับรถกันหวาดเสียวมาก บีบแตรกันเป็นว่าเล่น

หงสาวดี

พระมหาเจดีย์ (Mahar Zedi Pagoda)

พระมหาเจดีย์ (Mahar Zedi Pagoda) ที่นี่เข้าฟรีแต่เสียค่ากล้องถ่ายรูป 600 Kyat (18 บาท)

พระมหาเจดีย์ (Mahar Zedi Pagoda)

พระอาทิตย์ใกล้ตกแล้ว ไปกันต่อดีกว่า

พระมหาเจดีย์ (Mahar Zedi Pagoda)

วัดพระพุทธไสยาสน์ชเวตาเลียง (Shwethalyaung Buddha)

วัดที่ 5 วัดพระพุทธไสยาสน์ชเวตาเลียง (Shwethalyaung Buddha)

วัดพระพุทธไสยาสน์ชเวตาเลียง (Shwethalyaung Buddha)

พระนอนนองดาวจี มย่ะตาเลียง (Naung Daw Gyi Mya Tha Lyaung)

ต่อด้วยพระนอนนองดาวจี มย่ะตาเลียง (Naung Daw Gyi Mya Tha Lyaung) ตั้งอยู่ใกล้กับพระพุทธไสยาสน์ชเวตาเลียง

พระนอนนองดาวจี มย่ะตาเลียง (Naung Daw Gyi Mya Tha Lyaung)

เจดีย์ไจ๊ก์ปุ่น (Kyaik Pun Pagoda)

และสถานที่สุดท้ายก่อนพระอาทิตย์ตกดินคือ เจดีย์ไจ๊ก์ปุ่น (Kyaik Pun Pagoda) หรือ พระนั่งสี่ทิศ

เจดีย์ไจ๊ก์ปุ่น (Kyaik Pun Pagoda)

หลังจากแว้นไปเที่ยวกันจนทั่ว ก็ไปแวะกินข้าวเย็นร้านเดียวกับเมื่อตอนกลางวัน เมนูเดิมคือข้าวผัดกับเบียร์พม่าอีกหนึ่งขวด กินเสร็จก็แว้นกลับมายังที่พักเป็นอันจบมอเตอร์ไซด์ทริป คำแนะนำ : ควรใส่ผ้าปิดจมูก ทาครีมกันแดดหนาๆ และเกาะคนขับแน่นๆ

ค่าใช้จ่ายวันที่ 3

  1. ค่าที่พัก : 15,000 Kyat (460 บาท)
  2. ค่าเดินทาง : 30,000 Kyat (900 บาท)
  3. ค่าอาหาร : 12,400 kyat (370 บาท)
  4. ค่าเช้าชม : 14,000 Kyat (430 บาท)

สรุป : 2,160 บาท/ 2 คน

DAY 4 : หงสาวดี – ย่างกุ้ง

วันนี้ตื่นสายหน่อย นัดกับมอเตอร์ไซด์เจ้าเก่าให้มารับตอนเก้าโมง ไปส่งที่ท่ารถในราคา 300 Kyat (9 บาท/คน) ซึ่งเราตั้งใจว่าจะลองไปหารถเมล์ท้องถิ่นที่ราคาไม่แพง นั่งกลับไปย่างกุ้ง เพราะเห็นว่าระยะทางไม่ไกล เราบอกกับคนขับมอเตอร์ไซด์ให้ไปส่งที่นั่น แต่เค้าบอกว่าไม่มี มีแต่รถทัวร์ที่เค้าพามาส่งเท่านั้น ซึ่งราคาก็แพงพอสมควรแต่เราไม่เชื่อ เลยพยายามเดินหาดูก่อน โดยถามจากคนแถวนั้น แต่เค้าก็ยังเดินตามเรามาอยู่ห่างๆอย่างห่วงๆ เผื่อเราเปลี่ยนใจไปตามที่เค้าบอก สุดท้ายเราก็มาเจอท่ารถเมล์ประจำทางจนได้ และถามคนแถวนั้นจนมั่นใจว่าไปย่างกุ้ง

ท่ารถบัส หงสาวดี

แวะซื้อของกินรองท้องได้ที่ท่ารถ โดยของที่นี่หลายๆอย่างมีขายเหมือนที่บ้านเรา พรีเซ็นเตอร์ก็เป็นดาราไทย และพร้อมบริการเสริฟร์ให้ถึงที่

ท่ารถบัส หงสาวดี

อยากลองกินหมากอยู่เหมือนกัน แต่คิดไปคิดมา ไม่เอาดีกว่า

ท่ารถบัส หงสาวดี

ไม่รอช้ารีบกระโดดขึ้นรถจับจองที่นั่งได้ตามสบาย โดยมีพี่คนที่ขับมอเตอร์ไซด์เดินตามขึ้นมาส่งถึงบนรถ แล้วบอกว่าจะช่วยเอาตังค์ไปจ่ายค่ารถให้ในราคาคนละ 3,000 Kyat/คน แต่เราว่ามันแพงไปนะ เลยบอกว่าเดี๋ยวจะไปจ่ายเอง สุดท้ายกระเป๋ารถตัวจริงเดินมาเก็บเงินตกแค่คนละ 1,000 Kyat (30 บาท/คน) ว่าแล้วเชียวว่าความสบายมักจะมาพร้อมกับค่าบริการที่บวกเพิ่มเสมอ แต่พี่เค้าก็ไม่ได้มีท่าทางน่ากลัวหรือขู่เข็นอะไรนะ เค้าดูสุภาพมากเลยทีเดียว พยายามคอยจะช่วยเหลืออยู่ห่างๆ แค่บวกเพิ่มเยอะไปหน่อยแค่นั้นเอง ฮ่าๆ

ท่ารถบัส หงสาวดี

หลังจากขึ้นไปนั่งและจ่ายตังค์ได้ไม่นานนักรถก็ออกเดินทาง โดยมีเพื่อนร่วมทางเป็นสาวๆด้านหลังที่เวลาถามอะไรไป บ้างครั้งก็ได้คำตอบ แต่บางครั้งก็ได้เสียงหัวเราะกลับมาแทน น่ารักอ่ะ!!!

ท่ารถบัส หงสาวดี

เมืองย่างกุ้ง

ผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมงก็มาลงตรงไหนสักแห่งของย่างกุ้ง ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะใช่ท่ารถ ลงพร้อมกับสาวๆด้านหลัง ซึ่งช่วยเรียกรถ Taxi แล้วบอกคนขับให้ไปส่งเราที่วัดเจ้าทัตยี (Chauk Htat Gyi pagoda) ในราคา 4,500 Kyat (138 บาท)

ย่างกุ้ง

ผ่านบ้านอองซานซูจี คนขับช่วยลดความเร็วให้เราได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

บ้านอองซานซูจี

วัดเจ้าทัตยี (Chauk Htat Gyi pagoda)

ไม่นานนักก็มาถึงวัดเจ้าทัตยี ซึ่งประดิษฐานองค์พระพุทธไสยาสน์เจาทัตยี หรือที่คนไทยมักเรียกกันว่า “พระตาหวาน” องค์ใหญ่และตาหวานสมกับชื่อที่คนไทยตั้งจริงๆ ครับ

พระตาหวาน พม่า
พระตาหวาน พม่า

เมื่อก่อนตายังไม่หวานสักเท่าไหร่ เพราะถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ 1966 แทนองค์เดิมที่เคยสร้างขึ้นในปี ค.ศ 1907

พระตาหวาน พม่า
พระตาหวาน พม่า

ที่นี่นอกจากจะมาไหว้พระทำบุญแล้ว ยังสามารถมานั่งปิกนิคได้ด้วยนะ เพราะลมเย็นและอากาศดีมากๆ

พระตาหวาน พม่า

วัดงาทัตจี (Nga Htat Gyi Pagoda)

เดินวนจนครบรอบครึ่ง ก็เดินไปต่อยังวัดงาทัตจี (Nga Htat Gyi Pagoda) อีกไม่ไกล ประมาณ 500 เมตรน่าจะได้ ซึ่งด้านในประดิษฐานพระพุธรูปองค์ใหญ่ชื่อว่า “หลวงพ่องาทัตจี” สูงประมาณตึก 5 ชั้น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่แกะสลักจากหินอ่อน ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ เครื่องทรงเป็นโลหะ ส่วนเครื่องประกอบด้านหลังจะเป็นไม้สักแกะสลักทั้งหมด และสลักป็นลวดลายต่างๆ จำลองแบบมาจากพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยยะตะนะโบง (สมัยมัณฑเลย์) อลังการและสวยงามมากๆ

วัดงาทัตจี (Nga Htat Gyi Pagoda)
วัดงาทัตจี (Nga Htat Gyi Pagoda)
วัดงาทัตจี (Nga Htat Gyi Pagoda)

จากนั้นก็เหมารถ Taxi ต่อไปยังเจดีย์โบตะตาว (Botataung Pagoda) ในราคา 2,000 Kyat (60 บาท)

ย่างกุ้ง พม่า

เจดีย์โบตะตาว (Botataung Pagoda)

เสียค่าเข้าชมคนละ 3 USD (100 บาท) และสามารถฝากกระเป๋าไว้ที่จุดขายตั๋วได้

เจดีย์โบตะตาว (Botataung Pagoda)

ใต้ฐานขององค์เจดีย์สามารถเดินเข้าไปได้ โดยเป็นห้องที่มีผนังสีทองสลักเป็นลวดลายสวยงาม

เจดีย์โบตะตาว (Botataung Pagoda)

ภายในบรรจุพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้า

เจดีย์โบตะตาว (Botataung Pagoda)

เมื่อเดินออกมาด้านข้างของเจดีย์ ก็จะได้พบกับสถานที่ยอดฮิตของคนไทย

เจดีย์โบตะตาว (Botataung Pagoda)

เทพทันใจ

นั่นก็คือศาลา “เทพทันใจ” ที่มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาขอพรกันอย่างไม่ขาดสาย

เทพทันใจ พม่า

หลังจากได้เข้าไปขอพรเป็นที่เรียบร้อย ก็ออกเดินสำรวจไปรอบๆ เจดีย์ ที่เห็นทุกคนรีบเดินกันไม่ใช่เพราะว่ามีธุระด่วนที่ไหนนะ แต่เพราะว่าต้องถอดรองเท้าเดินบนพื้นที่ร้อนมาก

เจดีย์โบตะตาว (Botataung Pagoda)

เทพกระซิบ

และสถานที่สุดท้ายของย่านนี้ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามองค์เจดีย์ ที่คนไทยมักจะไม่พลาดอีกเช่นกัน

เทพกระซิบ

นั่นก็คือ “เทพกระซิบ” คนแล้วคนเล่าผลัดกันเข้าไปกระซิบรวมทั้งเราด้วยที่ไม่พลาด

เทพกระซิบ

ตลาดโบจ๊กอองซาน (Bogyoke Aung San Market)

จุดหมายต่อไปคือตลาดโบจ๊กอองซาน (Bogyoke Aung San Market) เพื่อไปหาที่แลกเงินเพิ่ม และหาที่พักสำหรับคืนนี้

ย่างกุ้ง

แนะนำว่าถ้าจะแลกเงินที่นี่ให้แลกกับธนาคารหรือร้านที่มีป้ายบอกราคาชัดเจนจะได้เรทดีกว่า อย่าหลงไปแลกกับนายหน้าที่เดินไปเดินมาล่ะ

ตลาดโบจ๊กอองซาน (Bogyoke Aung San Market)

แลกเงินเสร็จก็ออกเดินไปเรื่อยๆเพื่อหาที่พัก เข้าซอยนี้ออกซอยโน้น เจอแต่บ้านของชาวบ้าน

ย่างกุ้ง พม่า

เดินจนเมื่อยก็ว่าใช่ แต่ก็ชอบนะ เพราะตึกรามบ้านช่องของที่นี่อาร์ตดีทีเดียว

ย่างกุ้ง พม่า

เป็นตึกเก่ายุคอาณานิคมที่ดูกลมกลืมกับวิถีชีวิตของคนที่นี่เป็นอย่างมาก

ย่างกุ้ง พม่า
ย่างกุ้ง พม่า
ย่างกุ้ง พม่า

Okinawa Guest House 1

เดินหาอยู่นานประมาณสามรอบสนามบอลก็มาจบที่ Okinawa Guest House 1 อยู่ใกล้ๆเจดีย์สุเล (Sule Pagoda) เหลือเตียงสุดท้ายอยู่ติดทางเดินและบันไดทางลง ในราคา 16,000 Kyat (480 บาท) ต่อจากราคา 18,000 Kyat

Okinawa Guest House 1

หลังจากเก็บของเข้าที่พักเรียบร้อย ก็อาบน้ำแต่งตัวและนุ่งโสร่งที่ของยืมมาจากพนักงานประจำที่พัก เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของสถานที่ที่กำลังจะไปสักหน่อย เพราะสถานที่แห่งนี้ถือว่าเป็นไฮไลของการมาเที่ยวย่างกุ้งที่ทุกคนต้องไม่พลาด

แท็กซี่ ย่างกุ้ง

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda)

สถานที่แห่งนี้ก็คือ “มหาเจดีย์ชเวดากอง” (Shwedagon Pagoda) 1 ใน 5 มหาบูชาสถานของประเทศพม่า

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) พม่า

ทางขึ้นไปด้านบนมหาเจดีย์สามารถขึ้นได้หลายทาง โดยมีบันไดอยู่ทั้งสี่ทิศ แต่รถขับไปส่งเราตรงทางขึ้นที่เป็นลิฟท์ ค่าแท็กซี่ 2,000 Kyat (60 บาท) และค่าเข้าชมมหาเจดีย์ 8,000 Kyat (240 บาท)/คน สามารถฝากรองเท้าไว้ที่จุดขายตั๋วได้

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) พม่า

นี่คือจุดแรกที่เราไปยืนหยุดนิ่งเพื่อชมความงดงามและความอลังการขององค์มหาเจดีย์ชเวดากองสีเหลืองทอง รู้สึกได้ถึงความศักสิทธิ์และความศรัทธาที่อบอวนอยู่รอบๆ โดยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาแต่สัมผัสได้ด้วยใจ

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) พม่า

ช่วงที่เราไปถึงก็เกือบจะมืดแล้ว แต่ผู้คนก็ยังหลั่งไหลกันเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทั้งนักท่องเที่ยวและชาวพม่า ที่เยอะที่สุดคือชาวพม่าที่ยกกันมาทั้งครอบครัว บ้างก็มาเป็นคู่หนุ่มสาวชวนกันมาไหว้พระเห็นแล้วดูน่ารักดี

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) พม่า

เราเดินสำรวจไปรอบๆ จนไปเจอภาพที่ตามหา นั้นก็คือภาพชาวบ้านยืนเรียงแถวกันกวาดลานรอบมหาเจดีย์

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) พม่า

รอบๆ มหาเจดีย์จะมีองค์เจดีย์และพระพุทธรูปน้อยใหญ่ให้ได้สักการะ และมาสะดุดที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่สูงประมาณ 9 เมตร ที่นอกจากจะถวายดอกไม้และไหว้ขอพระแล้ว ยังมีสายลอกยาวต่อไปยังม่านขนาดใหญ่ด้านบนขององค์พระ เพื่อดึงให้ม่านโบกไปมาพัดให้กับองค์พระ ให้เกิดความร่มเย็นขึ้นภายในจิตใจ

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) พม่า

ใกล้ๆ กันจัดเป็นห้องนิทรรศการรวบรวมภาพถ่ายประวัติศาตร์ของมหาเจดีย์ชเวดากองทั้งใหม่และเก่า ที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวของความศรัทธาผ่านกาลเวลา และยังได้เห็นยอดของมหาเจดีย์อย่างใกล้ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยเพชรนิลจินดาที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ และที่สำคัญทรัพย์สมบัติทั้งหมดของที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นทองคำหรือเพชรนิลจินดาไม่ได้ถูกปล้นมาจากกรุงศรีอยุธยาอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจนะ แต่มาจาก “ความศรัทธา” ของพุทธศาสนิกชนที่นำมาถวายล้วนๆ

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) พม่า

เพียงแค่ได้นั่งจองมองอยู่ห่างๆ ก็มีความสุข และถึงแม้ว่ารอบข้างจะดูวุ่นวายแต่ในใจกลับรู้สึกสงบอย่างบอกไม่ถูก

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) พม่า

“สูงแค่ไหนอยู่ที่มุมมอง สุขแค่ไหนอยู่ที่ใจเรา”

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) พม่า

พวกเราเดินวนครบหนึ่งรอบจนพอใจจึงกลับลงมาทางเดิม ต่อรถแท็กซี่กลับไปหามื้อเย็นกินแถวไชน่าทาวน์ สั่งอาหารเมนูเดิมที่กินเกือบทุกวัน นั่นก็คือข้าวผัด แต่พิเศษกว่าวันอื่นคือเพิ่มไข่ดาว พร้อมเบียร์พม่าแก้กระหายสักขวดสองขวด แก้มด้วยพวกไส้ย่างหมูย่างที่เสียบขายเป็นไม้ๆ แต่อาหารที่สั่งดันมาช้ากว่าเบียร์ เลยจัดเบียร์ล่วงหน้าตอนท้องกำลังว่าง เมาสิครับเมา ตักข้าวเกือบไม่ตรงจาน กินเสร็จก็เดินกลับที่พัก อาบน้ำและเก็บของ เตรียมตัวกลับประเทศไทยในตอนเช้า หมดเวลาสนุกแล้วสินะ ขอกลับไปเจอกับโลกแห่งความเป็นจริง เพื่อเก็บเงินสักพัก แล้วพบกันใหม่นะ “พม่า”

“เจ๊ะโจนแม่” แปลว่า ลาก่อน

การเดินทางครั้งนี้ได้ออกไปผจญภัยในสถานที่ที่เราไม่รู้จักแต่กลับรู้สึกคุ้นเคย ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้นอีกนิด ได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและใกล้ชิดกับคนพม่าในแบบที่เป็น ทำให้รู้สึกได้ถึงมิตรภาพ ความเป็นกันเอง ความมีน้ำใจ และความศรัทธาของชาวพม่าที่มีต่อพระพุทธศาสนา ประเทศเพื่อนบ้านประเทศนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครหลายคนคิด จะติดก็แค่ความไม่สะดวกสบายอย่างที่ใครหลายคนคาดหวัง แต่จริงๆแล้วเราว่าก็ไม่ได้จะลำบากอะไรนะ ขอแค่มีที่ให้พัก มีรถให้นั่ง มีทางให้เดิน มีน้ำให้ดื่ม มีอาหารให้กินเติมพลัง มีรอยยิ้มให้กัน แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับชีวิตนักเดินทาง

ขอบคุณเพื่อนนักเดินทางทุกคนที่ติดตามอ่านมาจนถึงตอนจบ ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นของเรา รูปถ่ายและความทรงจำดีดีทั้งหมดนี้เป็นของเรา เราไม่สามารถขายให้เพื่อนๆได้ ถ้าเพื่อนๆอยากได้ต้องออกเดินทางด้วยตนเอง เราจะคอยเป็นกำลังใจให้นะ

ค่าใช้จ่ายวันที่ 4 และวันที่ 5

  1. ค่าที่พัก : 16,000 Kyat (480 บาท)
  2. ค่าเดินทาง : 15,100 Kyat (450 บาท)
  3. ค่าอาหาร : 17,000 kyat (510 บาท)
  4. ค่าเช้าชม : 22,000 (660 บาท)

สรุป : 2,100 บาท/ 2 คน

สรุปค่าใช้จ่าย สำหรับ 5 วัน 4 คืน 3 เมือง 2 คน กับ 1 ประสบการณ์

  1. ค่าตั๋วเครื่องบิน 1,780 บาท/คน
  2. ค่าที่พัก : 3,340 บาท
  3. ค่าเดินทาง : 2,100 บาท
  4. ค่าอาหาร : 1,100 บาท
  5. ค่าเช้าชม : 1,450 บาท

รวมทั้งหมดประมาณ 11,500 บาท/2 ตกคนละ 5,750 บาท

ส่วนประสบการณ์ที่ได้รับไม่สามารถประเมินมูลค่าได้

อ่านจบแล้วสามารถเข้าไปจองตั๋วเครื่องบินราคาประหยัดได้ที่ Traveloka ขนาดตั๋วนกแอร์ที่ว่าไม่แพงก็ยังถูกกว่าเดิม

ลองดูราคาได้ที่ Traveloka แล้วออกเดินทางตามรอยกันได้เลย

LIFE IS A JOURNEY | เพราะชีวิต คือ การเดินทาง…

x Close

LIFE IS A JOURNEY