ดอยเต่า
“ดอยเต่า” คำที่ใครได้ยินก็คงจะต้องนึกถึงเพลง “หนุ่มดอยเต่า” ของวงนกแล วงดนตรีของเด็ก ๆ ชาวเขาที่มีเนื้อร้องติดหูอยู่ทอนหนึ่งว่า “ดอยเต่าบ้านเฮากันดาร หมู่เฮาจากบ้านไปหางานทำ” เกิดทันกันไหม!!!
“แล้วดอยเต่านั้นอยู่ที่ไหน? จะเหมือนกับดอยอินทนนท์รึเปล่า?”
คงจะเป็นคำถามที่ใครหลาย ๆ คนคงอยากจะรู้ ซึ่งเราเองก็เช่นกัน จนกระทั่งเมื่อปี 51 เป็นน้องใหม่ไฟแรง อยากไปออกค่ายสร้างตั้งแต่ปี 1 จึงมีโอกาสได้มาสัมผัสกับที่นี่เป็นครั้งแรก มาทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า “ดอยเต่า” นั้นอยู่ส่วนไหนบนแผนที่ประเทศไทย รู้แค่ว่าอยู่จังหวัดเชียงใหม่ แถมต้องนั่งรถไฟฟรี ชั้น 3 ให้สนิมเกาะหน้าและตูดชามาจากหัวลำโพง ใช้เวลาเดินทางนานกว่า 12 ชม. ถึงกระนั้นก็ยังไม่เข็ด ยังมาอีกเป็นครั้งที่สองช่วงเดือนมกราปี 56 เพื่อมาจัดงานวันเด็ก และล่าสุดเมื่อเดือนตุลาปี 58 เรามีโอกาสมาเยือนที่นี่อีกครั้ง เพื่อมาเยี่ยมครอบครัวที่เคยมาอาศัยอยู่ด้วยตอนทำค่ายสร้าง
“สงสัยใช่ไหมละว่าที่นี่มีดีอะไร?”
เดินทางมาก็ไกล แถมไม่ได้อยู่ในเส้นทางหลักที่จะเดินทางไปยังตัวเมืองเชียงใหม่หรือใช้เดินทางกลับกรุงเทพที่จะสามารถแวะมาเที่ยวและถ่ายรูปเล่นก่อนกลับได้อีกต่างหาก ที่นี่จึงไม่ใช่ทางผ่าน หากอยากรู้จักต้องตั้งใจมาเท่านั้น วันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับดอยเต่าให้เพิ่มมากขึ้น ออกไปสัมผัสผ่านมุมมองในแบบของเรา
“ดอยเต่า” คือชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ออกไปทางทิศใต้ประมาณ 125 กิโลเมตร ทิศเหนือติดกับ อ.ฮอด ทิศตะวันตกติดกับ อ.อมก๋อย ทิศใต้ติดกับ อ.สามเงา จ.ตาก ส่วนด้านทิศตะวันออกอยู่ติดกับ อ.ลี้ จ.ลำพูน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และภูเขาสูง มีบางส่วนเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล หรือที่เรียกกันว่า “ทะเลสาบดอยเต่า” ซึ่งเป็นปลายทางของแม่น้ำปิง แม่น้ำสายหลักของจังหวัดเชียงใหม่
ส่วนที่มาของชื่ออำเภอดอยเต่า เราเองก็ไม่ทราบแน่ชัด แต่จากที่ลองสอบถามชาวบ้านได้ความว่า สมัยก่อนพื้นที่แถวนี้มีเต่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากทั้งบนบกและในน้ำ จึงน่าจะเป็นที่มาของชื่ออำเภอ และไม่ได้มีดอยที่ชื่อว่าเต่าอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ
เมื่อปี 51 เราได้เดินทางมาที่นี่ในฐานะนักศึกษา เพื่อขึ้นมาทำค่ายอาสาสร้างอาคารอเนกประสงค์ให้กับโรงเรียนและชุมชนเป็นระยะเวลา 15 วัน ได้ทำกิจกรรมสัมพันธ์ชุมชนและพักอาศัยร่วมกับชาวบ้านตลอดระยะเวลาค่าย ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ พร้อมทั้งตัดขาดจากโลกภายนอก และเมื่อปี 56 เราได้ขึ้นไปจัดกิจกรรมงานวันเด็กให้กับน้อง ๆ ที่โรงเรียน และกลับลงมาพร้อมกับความสุขที่ได้จากการเห็นรอยยิ้มของเด็ก ๆ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกผูกพันและอยากกลับมาเยี่ยมที่นี่อีกหลาย ๆ ครั้ง
โดยครั้งนี้เราเริ่มต้นออกเดินทางจากกรุงเทพด้วยรถทัวร์ในคืนวันศุกร์ช่วงปลายเดือนตุลาคม พร้อมกับเปิดเพลง “ไม่ต่างกัน” ของวง 25 Hours ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนต์เรื่อง “คิดถึงวิทยา” เพลงที่ช่วยทำให้เรานึกถึงบรรยากาศของจุดหมายปลายทางในครั้งนี้อยู่บ่อย ๆ
สถานีขนส่งอาเขต
เรามาถึงสถานีขนส่งอาเขต จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณเกือบสิบโมงเช้า เพราะระหว่างทางเส้นลำปาง-เชียงใหม่มีฝนตกหนักอยู่เป็นระยะ จึงทำให้รถเคลื่อนที่ได้ไม่เร็วนัก
เดิมทีการเดินทางครั้งนี้เราตั้งใจว่าจะมาคนเดียว เพื่อมาเยี่ยมครอบครัวที่เราเคยมาอาศัยอยู่ด้วยตอนที่มาทำค่ายอาสา และเอาเสื้อผ้าบางส่วนของเราที่ไม่ค่อยได้ใส่มาให้กับน้องชายสองคน และตุ๊กตาสำหรับน้องสาวคนเดียวของบ้าน
แต่ก่อนหน้าที่จะมาเราได้ไปกินข้าวกับรุ่นพี่ที่เคยขึ้นมาทำค่ายด้วยกัน และบังเอิญว่าจะมีแพลนขึ้นไปเชียงใหม่ช่วงนั้นพอดี จึงสนใจอยากจะไปดอยเต่าด้วย และได้ลองชักชวนคนอื่น ๆ ที่เคยไปค่ายด้วยกันเพิ่มเติม สุดท้ายทริปนี้จึงมีผู้ร่วมเดินทางทั้งหมด 6 คน
ตัดภาพกลับมาที่ขนส่งอาเขต ซึ่งได้กลายมาเป็นจุดนัดพบกับเพื่อนร่วมเดินทางอีก 2 คน ที่มาถึงในระยะเวลาไร่เรี่ยกัน จากนั้นจึงไปหาข้าวเช้ากินกัน โดยมีร้านประจำที่เราชอบมากินเมื่อได้มาอาเขต เป็นร้านอาหารเหนือร้านเล็ก ๆ ที่มีหลังคาเป็นต้นหูกวางขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของสถานีขนส่งหลังเก่า และอยู่ติดกับท่ารถแดง
อาหารถูกจัดเตรียมเอาไว้ในหม้อที่วางเรียงรายกันเป็นแถวยาวบนโต๊ะไม้ ให้เราเดินเข้าไปเปิดดูและเลือกได้ตามใจ เลือกเสร็จก็เดินมานั่งรอที่โต๊ะหินใกล้ ๆ กัน สักพักแม่ค้าก็จะนำเอาอาหารที่เราเลือกตักใส่จานเล็ก ๆ มาเสริฟให้ที่โต๊ะ พร้อมกับผักสด ๆ และข้าวเหนียวร้อน ๆ
อาหารแต่ละอย่างเราเองก็จำไม่ได้เหมือนกันว่าเรียกว่าอะไรบ้าง แต่มีอยู่จานนึงที่เราจำได้ อยู่ด้านบนซ้ายของรูป นั่นก็คือ “ก้อย” เนื้อดิบที่นำมาคลุกเคล้ากับเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอมช่วยให้เนื้อไม่มีกลิ่นคาว แถมมีรสชาติหวานและเผ็ดกำลังดี ใครที่เคยกินคงเห็นแล้วน้ำลายไหล แต่เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนต้องไม่กล้ากินแน่ ๆ เราเองก็กลัวเรื่องท้องเสียและพยาธิ แต่เอาหน่ะนาน ๆ ที สุดท้ายก็กินจนเกลี้ยงและไม่ท้องเสียด้วยนะ แต่เรื่องพยาธิยังไม่รู้เหมือนกัน อาจจะกำลังโต 555
หลังจากกินเสร็จพวกเราจึงไปรับรถมอเตอร์ไซด์ที่จองเอาไว้ล่วงหน้าจากร้านประจำที่อยู่ใกล้ ๆ กับขนส่ง ซึ่งสามารถจองล่วงหน้าผ่าน Line แล้วมาจ่ายตังค์ทีหลังได้ สะดวกมาก ๆ จากนั้นก็ขับไปเจอคนอื่น ๆ ที่เหลือ ซึ่งรออยู่ที่บ้านของรุ่นพี่ที่จังหวัดลำพูน
แผนที่การเดินทาง
อำเภอฮอด เชียงใหม่
เมื่อทุกคนพร้อมแล้วจึงเริ่มออกเดินทางต่อด้วยรถมอเตอร์ไซด์ทั้งหมด 5 คัน ออกจากจังหวัดลำพูนมุ่งหน้าต่อไปยัง อ.ฮอด เพื่อแวะพักและซื้อเสบียง แต่ถ้าไม่ได้มาแวะที่ลำพูนเหมือนกับเรา ก็สามารถขับออกจากตัวเมืองเชียงใหม่มาตามถนนหลวงหมายเลข 108 จนถึง อ.ฮอด ได้เลยเช่นกัน
ระหว่างทางรถมอเตอร์ไซด์ของพี่คนหนึ่งเบรกเกิดเสีย จึงต้องแวะหาร้านซ่อมข้างทาง โดยใช้ระยะเวลาซ้อมประมาณชั่วโมงกว่า ๆ ระหว่างนั้นก็นั่งคุยนั่งเล่นฆ่าเวลาอยู่รอเป็นเพื่อนกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะซ่อมเสร็จ เพราะเราจะไม่ทิ้งใครเอาไว้กลางทางอย่างแน่นอน
หลังจากซ่อมเสร็จก็ออกเดินทางต่อไปยัง อ.ฮอด และจอดแวะพักบริเวณตลาด เพื่อกินข้าวกลางวันและซื้อเสบียงเตรียมที่จะนำเอาไปทำอาหารสำหรับมื้ออื่น ๆ ตลอดระยะเวลาที่อยู่บน “ดอยแก้ว” ดอยหนึ่งใน อ.ดอยเต่า ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของพวกเราในครั้งนี้ โดยจะต้องนำรถข้ามทะเลสาบดอยเต่าและขับข้ามภูเขาไปอีกประมาณ 3 ลูก จึงไม่มีร้านค้าเหมือนอย่างในเมืองให้เราได้ชอปปิ้ง
แผนที่การเดินทาง
หลังจากแวะพักและซื้อของเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ออกเดินทางต่อไปยังตัวอำเภอดอยเต่า ไปตามถนนหลวงหมายเลข 1012 อีกประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายตัดเข้าถนนหลวงหมายเลข 1103 ไปอีกประมาณ 45 กิโลเมตร
เมื่อถึงตัวอำเภอดอยเต่าจะเห็นโรงพยาบาลดอยเต่าอยู่ซ้ายมือ ให้ขับเลยไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเจอกับสามแยกเล็ก ๆ ที่มีศาลารอรถหลังคาสีเหลืองอยู่ทางขวามือ โดยป้ายบริเวณปากทางเข้าจะเขียนว่าโรงเรียนบ้านผาจุกและบ้านผาจุก ส่วนป้ายไม้ด้านล่างสุดจะเขียนว่าหน่วยพิทักษ์ป่าดอยเต่า 12 ก.ม ซึ่งเป็นจุดที่เราจะไปขึ้นเรือเพื่อข้ามทะเลสาบดอยเต่า
แผนที่การเดินทาง
ทะเลสาบดอยเต่า
ระหว่างทางที่จะไปหน่วยพิทักษ์ป่าดอยเต่าช่วงแรกจะเป็นทางปูนผ่านหมู่บ้าน แต่พอเลยหมู่บ้านออกมาก็จะเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักของชาวบ้าน และเริ่มเปลี่ยนเป็นทางลูกรังที่มีหินขลุขละ จึงใช้ความเร็วไม่ได้มากนัก ขับตามกินฝุ่นของคันหน้ามาเรื่อย ๆ สักระยะจนเกือบถึงครึ่งทางเลยแวะจอดรอรถคันหลัง เนื่องจากทิ้งห่างกันมากเกินไป ปรากฎว่ามีรถสองคันหายไปนานไม่ตามมาสักที กลัวว่าจะเลี้ยวไปผิดทาง แถมโทรศัพท์ก็ไม่มีสัญญา จึงขับย้อนกลับไปดูจึงรู้ว่ามีรถคันหนึ่งในทีมยางรั่วตอนขับผ่านหมู่บ้านเลยแวะเปลี่ยนยาง จึงให้คันอื่นขับล่วงหน้าไปก่อนเพื่อติดต่อเรื่องเรือข้ามทะเลสาบ
เมื่อขับผ่านหน่วยพิทักษ์ป่าดอยเต่ามาได้สักเล็กน้อย ก็จะได้พบกับพื้นที่โล่งกว้างที่เต็มไปด้วยทุ่งหญ้าสีเขียวและฝูงวัว อยู่ท่ามกลางภูเขาสูง ภายใต้ท้องฟ้าใส โดยมีแม่น้ำไหลผ่านอยู่ตรงกลาง ราวกับบรรยากาศของทุ่งหญ้าสเตปป์แห่งมองโกเลียที่เราเคยเห็นในจอทีวี
ปีนี้น้ำในทะเลสาบได้ลดน้อยลงไปมากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปี 51 และเดือนมกราปี 56 เหลือแค่เพียงแม่น้ำปิงสายเล็ก ๆ และกลายมาเป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงวัวของชาวบ้าน มีฝูงวัวจำนวนไม่ต่ำกว่าพันตัวในบริเวณรอบ ๆ ทุ่งหญ้ากว้างแห่งนี้
ภาพของทะเลสาบดอยเต่าที่เราเคยถ่ายเอาไว้เมื่อปี 51 ช่วงปลายเดือนตุลา ส่วนเดือนมกราของปี 56 ปริมาณของน้ำน้อยลงกว่าในรูปด้านล่างนี้ไม่มากนัก
เมื่อทุกคนกลับมาพร้อมหน้ากันอีกครั้ง จึงได้เวลานำรถขึ้นเรือเพื่อข้ามไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกเรียกว่าเป็นทะเลสาบ รถมอเตอร์ไซด์ทั้ง 5 คัน มีตั้งแต่มอเตอร์ครอส PCX ไปจนถึงรุ่นเล็กอย่างมอเตอร์ไซด์จ่ายตลาด พร้อมด้วยผู้ร่วมเดินทางอีก 6 คน
เท่สุดก็คันนี้แหละ แต่ขับไม่เป็นหรอกนะแค่ขอยืมมานั่งค่อมโพสท่าถ่ายรูปเฉย ๆ ดูเท้าสิเกือบยันไม่ถึงพื้น 555
เมื่อเรือมาจอดเทียบท่า จึงค่อย ๆ ขับลงไปจอดบนเรือทีละลำด้วยความระมัดระวัง เพราะไม่อย่างนั้นก็อาจจะกลิ้งตกลงไปซิ่งในน้ำแทนได้
เรือหนึ่งลำบรรจุพวกเรา 5 คัน 6 คนได้อย่างพอดี ค่าโดยสารคนละ 20 บาท ไม่คิดค่ารถ
เรือค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากฝั่งอย่างช้า ๆ เคลื่อนตัดผ่านสายน้ำที่ไหลค่อนข้างแรง
ช่วงระยะเวลาสั่น ๆ ระหว่างที่นั่งอยู่บนเรือ ลองยื่นมือลงไปราน้ำ รู้สึกผ่อนคลายดีเหมือนกันนะ
“คิดภาพไม่ออกเหมือนกันนะ ว่าถ้ามาที่นี่คนเดียวจะเป็นยังไง”
“คงจะเหงาน่าดู”
ใช้ระยะเวลาไม่ถึง 5 นาที พวกเราก็สามารถข้ามฝั่งมาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งต่างจากเมื่อ 7 ปีที่แล้วมาก เพราะจะต้องใช้ระยะเวลาในการข้ามประมาณครึ่งชั่วโมง ด้วยโบ๊ะข้ามฟากที่ถึงแม้ว่าจะมีอัตราความเร็วน้อยกว่าเรือ แต่ต้องข้ามทะเลสาบที่กว้างกว่าจึงใช้เวลามากกว่าอย่างในรูป
การนำรถลงเรือไม่ยากเท่ากับการนำขึ้นฝั่ง เพราะมีอุปสรรคเป็นทางที่ลาดชันและพื้นดินที่ร่วนเกินไป จนเกือบติดหล่มและหงายหลังลงน้ำ
แต่สุดท้ายพวกเราก็สามารถผ่านด่านนี้มาได้ ในขณะที่แสงตะวันกำลังเริ่มลดน้อยลงไปทุกที
แผนที่การเดินทาง
บ้านเรือนแพที่เคยลอยอยู่บนน้ำ ตอนนี้เปลี่ยนขึ้นมาลอยอยู่บนหญ้าแทนล่ะ
จากที่เคยเลี้ยงปลาในกระชังก็ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นเลี้ยงวัวในคอกแทน
ด่านต่อไปคือการขับรถลัดเลาะไปตามถนนเส้นเล็ก ๆ ท่ามกลางทุ่งหญ้ากว้าง
ขับตามทางไปเรื่อย ๆ ขึ้นเนินบ้างลงเนินบ้าง จนนึกว่ากำลังขับอยู่บนเนินเขาในการ์ตูนเทเลทับบี้
หลังจากผ่านบริเวณทุ่งหญ้ากว้างก็จะเปลี่ยนมาเป็นการขับเข้าป่าลัดเลาะข้ามภูเขาไปอีกประมาณ 3 ลูก ระยะทางประมาณเกือบ 10 กิโลเมตร บนถนนที่กว้างประมาณ 1 คันรถกระบะ ช่วงที่เป็นทางลาดชันมากๆจะทำด้วยปูน ส่วนอีกประมาณ 70 เปอร์เซ็นเป็นทางดินที่มีร่องรอยของร่องน้ำที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนและหินนูน ๆ ขลุขละที่ทำให้ขับค่อนข้างยาก
บางช่วงต้องขับผ่านลำธารที่ไหลตัดผ่านถนน แต่ตอนนี้มีน้ำไหลผ่านเพียงเล็กน้อยจนเกือบไม่มีแล้ว
แผนที่การเดินทาง
หมู่บ้านแม่ป๊อกบน
ด้วยสภาพถนนที่ขับค่อนข้างลำบากประกอบกับความมืดที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามา ทำให้พวกเรามาถึง “หมู่บ้านแม่ป๊อกบน” หนึ่งในหมู่บ้านที่อยู่บนดอยแก้ว อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เกือบประมาณ 1 ทุ่ม พวกเราจอดรถบริเวณหน้า “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้านและเป็นที่ที่เราจะมาขออาศัยหลับนอนกันในคืนนี้
จากนั้นจึงเข้าไปสวัสดีคุณครูและเดินไปหาผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเดินทางมาของพวกเราในครั้งนี้ ซึ่งพ่อผู้ใหญ่ยังคงจำพวกเราได้เป็นอย่างดี แถมชวนกินข้าวและให้ไปนอนค้างที่บ้าน แต่พวกเรามากันหลายคน เลยขอไปนอนที่โรงเรียนดีกว่าจะได้ไม่เป็นการรบกวน คุณครูและพ่อผู้ใหญ่จึงจัดหาผ้านวมและหมอนมาให้กับพวกเราจำนวนหนึ่ง เพื่อเอามาเสริมทัพกับถุงนอนที่พวกเราเตรียมมาในการรับมือกับอากาศที่หนาวเย็นในตอนกลางคืน
จากนั้นพ่อครัวก็เริ่มบรรเลงเพลงตะหลิว เหนือกระทะที่ตั้งอยู่บนเตาฟืน เพื่อทำอาหารเย็นจากวัตถุดิบที่ซื้อมาจากด้านล่างกินกันเป็นมือแรก
ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นอย่างที่เห็นในรูป ส่วนเรื่องของรสชาตินั้นค่อนข้างจะอธิบายยาก เนื่องจากไม่แน่ใจว่ามันเป็นเพราะความหิวหรือความอร่อย หรือทั้งสองอย่าง แต่เอาเป็นว่ากินกันจนเกลี้ยง จะเหลือก็แต่ต้มจืดกระรอกป่าฝีมือคุณครูที่ไม่ค่อยถูกปากพวกเราสักเท่าไหร่
ยิ่งดึกอากาศข้างบนยิ่งหนาว พวกเราจึงมานั่งล้อมวงรอบกองไฟและเผามันกินกันที่หน้าโรงเรียน พร้อมกับนั่งแหงนมองดูดาวบนท้องฟ้า เนื่องจากบริเวณโรงเรียนเป็นลานกว้างบนยอดเขาสูงและอยู่ไกลจากแสงไฟในเมือง จึงทำให้ที่นี่เป็นจุดชมดาวที่สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่ง ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าดวงดาวน้อยใหญ่อยู่ใกล้แค่มือเอื้อม
เช้าวันรุ่งขึ้น พวกเราตื่นนอนพร้อมเพียงกันเพราะเสียงนาฬิกาปลุกของพี่คนหนึ่งที่ไม่ตื่นด้วยเสียงของตัวเอง แต่เสียงนั้นทำให้คนอื่นตื่น เพื่อไปดูพระอาทิตย์ขึ้นบนวัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขาที่สูงที่สุดของหมู่บ้าน
ด้านบนวัดอากาศเย็นสบาย มีลมพัดพาเอาสายหมอกอ่อน ๆ มากระทบใบหน้าอย่างเบา ๆ
รออยู่ไม่นานนักพระอาทิตย์ก็เริ่มโผล่หน้าผ่านกลุ่มเมฆหนาเหนือภูเขาออกมาทักทายพวกเรา
จุดที่พวกเรายืนชมวิวอยู่นี้ เป็นบริเวณด้านหน้าขององค์พระพุทธรูปปางประทานพร สูงประมาณ 20 เมตร ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าผา โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ถ้าไม่มีหมอกเราจะสามารถมองเห็นทะเลสาบดอยเต่า
ยืนสูดอากาศบริสุทธิ์และชมวิวอยู่ได้สักพักก็เดินกลับลงมาที่โรงเรียน ระหว่างทางจะผ่านบ้านของชาวบ้านที่ปลูกกระจายกันอยู่บนเนินเขาตลอดเส้นทาง บางหลังก็ทำด้วยไม้ไผ่และมุงหลังคาด้วยใบของพืช
หลาย ๆ หลังทำด้วยไม้และมุงหลังคาด้วยสังกะสี ตรงกลางของตัวบ้านจะมีเตาสำหรับประกอบอาหารและให้ความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว
น้ำที่ใช้ดื่มและอาบมาจากประปาภูเขา ไฟฟ้ามาจากแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาที่มีกันเกือบทุกหลัง โดยใช้ระยะเวลาในการชาร์ตประมาณหนึ่งวัน เพื่อนำมาใช้ให้แสงสว่างในเวลากลางคืนและเพียงพอให้สามารถดูละครได้หนึ่งเรื่องต่อวันพอดี ส่วนสัญญาณโทรศัพท์จะมีอยู่แค่บางค่ายและบางจุดของหมู่บ้านเท่านั้น
ส่วนสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ของที่นี่จะเป็นน้องหมู หมา ไก่ และวัว น่ารักทุกตัว
ชาวบ้านที่นี่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือ ปกาเกอะญอ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยได้ ส่วนรุ่นปู่ยาตายายจะพูดไม่ได้ เลยต้องอาศัยการสื่อสารด้วยภาษามือและรอยยิ้มแทน ส่วนเด็ก ๆ แรก ๆ จะขี้อาย แต่ถ้าสนิทแล้วเรียกได้ว่าไปไหนไปกัน น่ารักและอัธยาศัยดีทุกคน
และนี่คือครอบครัวที่เราเคยมาอาศัยอยู่ด้วยตอนมาทำค่ายอาสาเมื่อปี 51 สมาชิกประกอบไปด้วย “พ่อ” ผู้ชายขี้อายแต่ใจดี “แม่” ผู้หญิงที่ทำกับข้าวอร่อยมากและชอบแย่งพวกเราล้างจาน “น้องชายคนกลาง” ใส่เสื้อสีน้ำเงิน คนนี้โคตรซน ชอบชวนไปล่ากระรอกในป่า “น้องชายคนโต” พูดน้อยขี้เกรงใจ แต่ไปไหนไปกัน ส่วนคนสุดท้ายคือ “น้องสาวคนสุดท้อง” เจอกันครั้งแรกตั้งแต่ตอนที่ยังพูดไม่ได้ แต่ตอนนี้เริ่มโตเป็นสาวแล้ว เสื้อผ้าที่เราเตรียมมาให้มีแต่ของผู้ชายเลยต้องหาตุ๊กตามาฝากแทน ไม่ว่าระยะเวลาจะผ่านไปกี่ปี ความรู้สึกอบอุ่นและประทับใจที่มียังคงเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง
จากนั้นก็กลับลงมาที่โรงเรียน เพื่อกินข้าวเช้าที่พี่ ๆ จัดเตรียมไว้ให้ เป็นเมนูง่าย ๆ รองท้องในตอนเช้า
ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง
และนี่คืออาคารเรียนที่เรานอนพักกันเมื่อคืน
ส่วนรูปนี้คืออาคารอเนกประสงค์ที่เราเคยขึ้นมาสร้างไว้เมื่อปี 51 ซึ่งตอนนี้ได้ถูกใช้เป็นที่ประชุมของหมู่บ้าน และเป็นห้องเรียนกับโรงอาหารสำหรับน้อง ๆ จากสภาพของอาคารที่เริ่มทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พวกเราและคุณครูจึงอยากที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยการก่ออิฐปูนสูงประมาณ 1 เมตร และติดตาข่ายเหล็กรอบตัวอาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปสร้างความสกปรกภายในห้องเรียน เด็ก ๆ จะได้มีสุขลักษณะที่ดี มีสุขภาพที่แข็งแรง
เราจึงกลับมาทำเสื้อขายในเพจของเราบนเฟสบุ๊ค ได้เงินมา 23,700 บาท จากนั้นก็ส่งเงินไปให้คุณครูเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านมาช่วยกันปรับปรุงอาคารในครั้งนี้ ซึ่งตอนนี้ก่ออิฐรอบตัวอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงแค่ติดตาข่ายเหล็กเท่านั้น และนี่คือรูปล่าสุดที่คุณครูส่งมาให้ ขอขอบคุณผู้ร่วมสบทบทุนผ่านกระทู้นี้อีกครั้งนะครับ
นอกจากการเล่นกีฬาทั่ว ๆ ไปอย่างเช่น ฟุตบอล หรือตะกร้อแล้ว น้อง ๆ ยังมีกิจกรรมสุดฮิตอีกอย่างหนึ่งในตอนนี้ก็คือการเล่นยิงลูกแก้ว ที่เล่นกันทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง คงคล้าย ๆ กับพวกเราในสมัยเด็ก ๆ ที่จะมีกิจกรรมหรือของเล่นยอดฮิตที่ทำตาม ๆ กันเป็นช่วงสั่น ๆ บางช่วงก็ฮิตยิงลูกแก้ว บางช่วงก็ฮิตสะสมการ์ดโปเกม่อน บางช่วงก็เปลี่ยนมาฮิตเลี้ยงปลากัดหรือปลาหางนกยูง ฯลฯ กิจกรรมพวกนี้ถ้าเป็นเด็กต่างจังหวัดแบบเราก็น่าจะเข้าใจดี
บนดอยก็มีรถลากเลื่อนเหมือนอย่างเมืองนอกที่เล่นบนหิมะด้วยนะ
สิ่งที่สามารถส่งต่อความสุขให้แก่กันได้รวดเร็วที่สุด นั่นก็คือ “รอยยิ้ม”
หลังจากกินข้าวเช้าและถ่ายรูปเล่นกับเด็ก ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเราจึงขอตามชาวบ้านไปช่วยเกี่ยวข้าวไร่บนภูเขา โดยขับมอเตอร์ไซด์ตามชาวบ้านไปบนถนนแคบ ๆ ที่กว้างเพียงแค่ครึ่งเมตร ลัดเลาะไปตามไหล่เขา
ขับเลยหมู่บ้านออกมาไม่นานนักก็จะเริ่มเห็นแปลงปลูกข้าวไร่สีเหลืองทองที่กำลังพร้อมรอให้เก็บเกี่ยว
ที่นี่ปลูกพืชด้วยระบบไร่หมุนเวียน เป็นระบบการเพาะปลูกในพื้นที่หนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นจะย้ายพื้นที่เพาะปลูกไปยังพื้นที่ใหม่ เพื่อให้พื้นที่เดิมเริ่มฟื้นความอุดมสมบูรณ์เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5-10 ปี แล้วจึงหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง
โดยใช้องค์ความรู้ในการจัดการ ได้แก่ ตัดต้นไม้เหลือตอไว้ให้สามารถแตกกอใหม่ได้ ไม่ตัดฟันไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่บุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ และควบคุมไฟป่าด้วยการสร้างแนวกันไฟ
การปลูกพืชในระบบไร่หมุนเวียนเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยมีข้าว ผัก และพืชใช้สอยต่าง ๆ ปลูกรวมกันอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก และเน้นการเพาะปลูกพืชอาหารสำหรับเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนเท่านั้น
ถือได้ว่าเป็นรูปแบบของเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งเกษตรกรที่รักษาระบบเกษตรกรรมเช่นนี้มีกฎเกณฑ์ที่จะต้องเคารพคุณค่าและนอบน้อมต่อธรรมชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า “ใช้ประโยชน์จากน้ำ ต้องรักษาน้ำ ใช้ประโยชน์จากป่า จักต้องรักษาป่า” (ที่มา)
การเก็บเกี่ยวของที่นี่จะใช้วิธีการลงแขกเกี่ยวข้าว เมื่อไร่นาของครอบครัวไหนที่พร้อมจะให้เก็บเกี่ยว ทุกคนในหมู่บ้านก็จะมาช่วยกัน และสลับกันไปเรื่อย ๆ จนครบทุกครอบครัว โดยที่เจ้าของไร่นานั้น ๆ จะเตรียมอาหารมาเลี้ยงคนที่มาช่วยเกี่ยวข้าวเป็นการตอบแทน
วิธีการเกี่ยวข้าวก็ไม่ยาก เพียงแค่ใช้มือข้างไหนก็ได้ที่ถนัดจับเคียวไว้ให้แน่น จากนั้นใช้เคียวเกี่ยวไปรวบกอข้าวมารวมกันประมาณสักสามสี่กอ แล้วใช้มืออีกข้างที่เหลือกำกอข้าวให้แน่นจากนั้นก็ตัดกอข้าวให้ขาด แล้วยื่นกอข้าวนั้นไปให้กับคู่หูอีกคน เพื่อใช้ใบข้าวที่อยู่ในกอมามัดรวมกันให้แน่นแล้ววางกองไว้กับพื้น โดยจะต้องมีการทำงานเป็นทีม คนนึงมีหน้าที่เกี่ยวอีกคนมีหน้าที่มัด คนเกี่ยวน่าจะเหนื่อยกว่า เพราะจะต้องก้ม ๆ เงย ๆ บนทางลาดชันกลางแดดร้อน ๆ ถ้าคนไม่เคยอาจจะหน้ามืดจนเกือบหงายหลังเหมือนเราได้
หลังจากไปทำเนียนช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าวจนเหงื่อไหลย้อยจนเกือบถึงแก้มก้นได้สักพัก จึงขับรถกลับออกมาออกเก็บของที่โรงเรียน แล้วมุ่งหน้าต่อไปยังน้ำตก
ปีนี้น้ำน้อยเลยสามารถลงไปนอนเล่นขอบน้ำตกได้
ทะเลสาบดอยเต่า
นอนเล่นอยู่สักพัก ฝนก็ทำท่าเหมือนว่าจะตกเลยรีบกลับกันออกมา แล้วเดินทางต่อไปยังทะเลสาบดอยเต่า โดยใช้อีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งเป็นเส้นทางสายเดิมที่ใช้สัญจรเมื่อครั้งที่ยังมีน้ำในทะเลสาบมากกว่านี้
ระหว่างทางจะมีวัดตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเล็ก ๆ โดยมีองค์เจดีย์สีขาวตั้งเด่นอยู่ตรงกลาง สามารถมองเห็นจากระยะไกล
วัดกั้นรั้วทางเข้าเอาไว้พวกเราเลยไม่ได้เข้าไปข้างใน จึงยืนดูวิวถ่ายรูปเล่นอยู่แค่หน้าวัด จากนั้นก็ขับกลับลงมาเพื่อไปต่อยังท่าเรือที่อยู่ใกล้ ๆ กัน แต่เป็นคนละที่กับขามาและราคาแพงกว่า 10 บาท
ระหว่างทางขับผ่านฝูงน้องวัวเจ้าถิ่น ที่พากันหันหน้ามามองพวกเราด้วยความแปลกใจ
เมื่อกลับออกมาจากทะเลสาบดอยเต่าเรียบร้อยแล้ว พวกเราไปแวะกินข้าวซอยที่ตัวอำเภอดอยเต่าตรงข้ามกับโรงพยาบาล หลังจากจอดรถปรากฎว่ามีพี่คนหนึ่งกระเป๋าหายไป นึกไปนึกมาจึงนึกได้ว่าลืมกระเป๋าเอาไว้ที่ท่าเรือ เนื่องจากขึ้นจากเรือเป็นคนแรกจึงเอากระเป๋าไปวางไว้ท้ายรถกระบะที่จอดอยู่บนฝั่งแล้วมาช่วยเข็นมอเตอร์ไซด์ขึ้นจากเรือ
หลังจากขับกลับไปเอากระเป๋าที่ท่าเรือมาได้เรียบร้อยแล้ว พวกเราจึงออกเดินทางต่อไปยังตัวเมืองลำพูน โดยใช้คนละเส้นทางกับขามา เป็นเส้นทางที่จะไปตัดกับถนนหลวงหมายเลข 106 อ.ลี้ จ.ลำพูน เส้นทางนี้รถค่อนข้างน้อยและถนนดีมากจึงขับได้อย่างสบาย ๆ และสุดท้ายก็กลับมาถึงตัวเมืองลำพูนได้อย่างปลอดภัย
แผนที่การเดินทาง
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของดอยเต่าที่เรารู้จักและอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก หากใครอยากเห็นทะเลสาบดอยเต่าเป็นทุ่งหญ้าสีเขียวแบบนี้ แนะนำให้ไปช่วงเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศเย็นกำลังดี แต่ถ้าหากอยากเห็นทะเลสาบมีน้ำมากกว่านี้อาจจะต้องไปช่วงหลังฤดูฝน และถ้าอยากมาพักกางเต้นท์ใกล้ ๆ กับทะเลสาบดอยเต่าก็สามารถมาติตต่อขอพักได้บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าดอยเต่า ซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง แต่ที่นี่จะไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาในการอำนวยความสะดวก อีกทางเลือกหนึ่งก็คือหาที่พักบริเวณตัวอำเภอดอยเต่า
ส่วนบ้านแม่ป๊อกบน หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่อยู่บนดอยแก้ว หากใครอยากขึ้นไปเที่ยวแนะนำให้ขึ้นไปช่วงฤดูหนาว เพราะเส้นทางจะปลอดภัยที่สุด แต่ไม่แนะนำสำหรับคนที่ขับรถไม่แข็ง เพราะเส้นทางบางช่วงค่อนข้างชัน และไม่ควรนำรถโฟร์วิวขนาดใหญ่ขึ้นไปเพราะอาจจะทำให้ถนนพังได้ สำหรับใครที่ต้องการช่วยเหลือหรือแบ่งปันทางด้านต่าง ๆ ก็สามารถติดต่อหลังไมล์เข้ามาพูดคุยกันได้เราจะช่วยแนะนำให้
เพราะ “ดอยเต่า” ไม่ใช่ทางผ่าน หากอยากรู้จักต้องตั้งใจมา
สรุปค่าใช้จ่าย
ค่าเดินทาง
- รถทัวร์ไปกลับกทม.-เชียงใหม่ : 1,138฿
- ค่าเช่ารถมอเตอร์ไซด์ 2 วัน : 350฿
- ค่าน้ำมัน : 200฿
ค่าที่พัก : ฟรี
ค่าอาหาร : ตามอัธยาศัย
รวมทั้งสิ้น 1,688 บาท