“เมืองลับแล” ฟังแค่ชื่อก็ชวนให้รู้สึกฉงนในความลึกลับ ประกอบกับตำนานเรื่องเล่าที่ได้ฟังมาแบบปากต่อปาก ยิ่งทำให้รู้สึกอยากออกไปค้นหาและสัมผัสกับเมืองแห่งนี้ดูสักครั้ง แต่หากจะไปคนเดียวลำพังก็ดูจะเหงาไปสักหน่อย แนะนำให้พาคนที่แคร์ไปจะได้ช่วยดูแลกันและกัน “พาแฟนไปแอ่วเมืองลับแล เพราะฉันแคร์เธอ”
DAY 1
พวกเราเริ่มต้นออกเดินทางจากศูนย์บริการลูกค้านครชัยแอร์ ถนนกำแพงเพชร 2 โดยนำรหัสที่จองผ่านแอพพลิเคชั่นมาพิมพ์ตั๋วที่ด้านหน้าและเข้ามานั่งรอด้านในอาคารผู้โดยสาร ซึ่งแบ่งประตูทางขึ้นรถอย่างชัดเจนคล้ายกับในสนามบิน
สำหรับรถที่จะไปจังหวัดอุตรดิตถ์มีทั้งหมดวันละ 5 เที่ยว เป็นรถประเภท Gold Class จำนวน 30 ที่นั่ง มีห้องน้ำ 1 ห้อง ซึ่งมีประตูกั้นสองชั้นและมีพัดลมดูดอากาศ จึงไม่ส่งกลิ่นเหม็นออกมา
รุ่นนี้ไม่มีทีวีส่วนตัว (เฉพาะเส้นทางอุตรดิตถ์ แต่เส้นทางอื่นมี) เบาะกว้างนั่งสบาย พร้อมผ้าห่มผืนใหม่ที่ห่อถุงพลาสติกเอาไว้อย่างดี มีบริการอาหารว่างและเครื่องดื่ม ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมงครึ่ง (ไม่หยุดแวะพักระหว่างทาง)
พวกเราเดินทางมาถึงสถานีขนส่งจังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณตี 4 ครึ่ง จึงตั้งใจมานอนพักเอาแรงแถวนี้ก่อนชั่วคราว (แนะนำต้นกล้า แฮปปี้โฮม อยู่ห่างจากขนส่งประมาณ 500 เมตร) พอสายๆก็ออกไปรับรถยนต์เช่าที่จองเอาไว้ล่วงหน้า มีชื่อร้านสุดน่ารักว่า “มุ้งมิ้ง” อยู่ติดกับสถานีขนส่ง
จากนั้นก็ออกเดินทางไปยังอำเภอลับแล ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์เพียงแค่ 9 กิโลเท่านั้น และเริ่มต้นมื้อแรกกันที่ “ร้านพบลับแล” ร้านอาหารที่มีระเบียงยื่นออกไปบนลำธารสายเล็กๆ มีวิวเป็นทุ่งนาและแนวเขา
มีเมนูที่แนะนำคือ “ข้าวพันผักหมี่เหลืองไข่ม้วนวุ้นเส้น” ทานคู่กับไข่ดาวและเกี๊ยวกรอบ
ข้าวพันผักเป็นอาหารพื้นเมืองของลับแล ลักษณะคล้ายกับข้าวเกรียบปากหม้อ แต่ไส้ข้างในเป็นผักนานาชนิดซอยละเอียด เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักบุ้ง หรือแครอท ฯลฯ แนะนำว่ามาแล้วต้องลอง
ที่ร้านมีแผ่นพับลายแทงของอร่อยจากโครงการ “กิ๋นดี กิ๋นลำ ที่ลับแล” ของ ททท. แจกให้ไปล่าตราประทับอย่างน้อย 3 ร้านจาก 14 ร้านค้า เพื่อรับกระเป๋า Eco Bag ด้วยนะ
ทานเสร็จก็แวะมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับ “ซุ้มประตูเมืองลับแล” ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน เป็นซุ้มประตูขนาดใหญ่สถาปัตยกรรมศิลปะประยุกต์แบบสุโขทัยสีเหลืองทองโดดเด่นและอลังการมาก
ถือว่าเป็นแลนด์มาร์คของเมืองลับแลเลยก็ว่าได้
ด้านข้างของซุ้มประตูมีประติมากรรมรูปปั้นหญิงสาวยืนอุ้มลูกน้อยสีหน้าเศร้าสร้อย ข้างๆมีสามีนั่งก้มหน้าในมือถือถุงย่ามใส่ขมิ้นเตรียมเดินทางออกจากเมืองลับแล ตามตำนานของเมืองลับแลที่เล่าสืบต่อกันมา
ถัดจากประติมากรรมรูปปั้นคือ “พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล” บอกเล่าประวัติความเป็นมาของเมืองลับแล พร้อมทั้งจำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ขนมธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเมืองลับแล
จากหลักฐานทางโบราณคดี คือ “ศิลาจารึกเจดีย์พิหาร” ซึ่งขุดได้ที่หน้าวิหารวัดเจดีย์คีรีวิหาร มหาอำมาตย์ตรี พระยานครพระราม ส่งเข้าหอสมุดวชิรญาณ กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2473 ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ให้ความเห็นว่าเนื้อหาจารึกน่าจะกล่าวตั้งแต่ครั้งเมื่อพระยาลิไทยขึ้นเสวยราชย์ เป็นหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่าอาณาบริเวณเมืองลับแลปัจจุบัน เป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย (ที่มา : วิกิพีเดีย)
ที่มาของคำว่า “ลับแล” ความหมายตามรูปศัพท์ว่า “ที่ซึ่งมองดูไม่เห็น” เป็นชื่อเมืองที่ตั้งตามลักษณะภูมิประเทศ เพราะตั้งอยู่ในที่ที่เป็นป่าเขาสลับซับซ้อน
เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นแต่ป่าไม้ ไม่ค่อยพบเห็นบ้านเรือน กล่าวกันว่าหากคนต่างถิ่นหลงเข้าไปในดินแดนเมืองลับแลอาจหาทางออกไม่ได้
เมืองลับแลมีบรรยากาศเยือกเย็นยามพลบค่ำ แม้ดวงอาทิตย์จะยังไม่ตกดินก็มืดแล้ว เพราะมีดอยม่อนฤาษีสูงใหญ่เป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์
เดิมทีที่ชาวเชียงแสนอพยพมาในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายพื้นที่แถบนี้เป็นป่าดง มีแต่ต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากเป็นเมืองร้างมาหลายร้อยปี พอตอนบ่ายแดดก็จะลับ เลยเรียกว่า “ลับแลง” แลง แปลว่า ตอนเย็น แดดลับในตอนเย็น ต่อมาได้เรียกเพี้ยนเป็นคำว่า “ลับแล”
และด้วยเหตุที่ชาวลับแลส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนซึ่งอยู่บนภูเขา ดังนั้นผู้ชายลับแลจึงต้องไปใช้ชีวิตในสวนเป็นเวลานานๆ ปล่อยให้ภรรยาและลูกๆ หลานๆ อยู่เฝ้าบ้าน เมื่อผู้คนผ่านไปมาพบเห็นแต่ผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ จึงให้ฉายาเมืองลับแลว่า “เมืองแม่ม่าย” (ที่มา : พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล)
หลังจากท่องเที่ยวแบบมีสาระกันไปแล้ว เปลี่ยนบรรยากาศมาชอปปิงและนั่งชิลกันบ้าง จุดต่อไปคือ “พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกม่อนลับแล”
จัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกที่มีรวดลายงดงามปราณีต พร้อมทั้งจำหน่ายผ้าซิ่นตีนจกหลากลายลวดลายและราคาที่รับมาจากโรงทอผ้าของชาวบ้านในระแวกนั้น
ติดกับพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกม่อนลับแล คือ “ลับแล ลา ลีกา”
ร้านอาหารและคาเฟ่สไตล์คลาสสิกผสมล้านนา
แบบออกเป็นสองโซน คือ โซนร้านอาหาร และโซนคาเฟ่ (ในรูปคือโซนคาเฟ่) มีบริการเครื่องดื่มและของหวาน
แอร์เย็นสบายในบรรยากาศอบอุ่น เหมาะแก่การมานั่งชิลนั่งพักหลบแดด
แต่หากอยากสัมผัสกับธรรมชาติก็มีโซนที่นั่งด้านนอก อยู่ท่ามกลางร่มไม้ให้เลือกนั่งตามใจชอบ
ร้านต่อไปคือ “ข้าวพันผักอินดี้” ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีเมนูหลักคือ ข้าวพันผักและหมี่พัน
อันนี้คือหน้าตาของเจ้าหมี่พัน อีกหนึ่งอาหารพื้นเมืองของลับแล ด้านในเป็นเส้นหมี่ทรงเครื่อง เผ็ดเล็กน้อย ห่อด้วยแผ่นแป้งเหนียวๆ อร่อยดี
ร้านตกแต่งด้วยของสะสมที่ส่วนใหญ่เป็นของเล่นพวกโมเดลตัวการ์ตูน
และทีวี วิทยุ กล้องถ่ายรูปเก่าๆ ฯลฯ เป็นการตกแต่งที่อินดี้สมกับชื่อร้าน
ด้านหน้าของร้านมีสวนกระบองเพชรหลากหลายสายพันธุ์จัดแสดงอยู่ เห็นว่าขายด้วยนะลองสอบถามดู
และเป็นร้านที่ทาสแมวไม่ควรพลาด เพราะภายในร้านเต็มไปด้วยน้องแมวนับสิบตัว
เดินเล่นไปมาหรือหลับอยู่ตามจุดต่างๆของร้านอย่างสบายใจ เสมือนกับตัวเองเป็นเจ้าของร้าน
จากนั้นพวกเราก็มาเช็คอินเข้าที่พัก ณ “ลับแลเกสเฮ้าส์” บ้านไม้สไตล์ย้อนยุคที่ยังคงเก็บรักษาบรรยากาศของวันวานในอดีตไว้ได้เป็นอย่างดี โดยคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นคุณค่าของบ้านเก่าหลังนี้
คุณเบญ เจ้าของเกสเฮ้าส์มารอคอยตอนรับด้วยตนเอง พร้อมกับพาเดินชมบ้าน และแนะนำเรื่องต่างๆด้วยความเป็นกันเอง
บริเวณด้านหน้าเป็นเหมือนล๊อบบี้ และมีจักรยานให้ยืมปั่นเล่นชมเมืองจอดอยู่หลายคัน
เวลคัมดริ้งของที่นี่แตกต่างไม่เหมือนใคร เพราะเป็นเฉาก๊วยก้อนนุ่มๆที่โปะด้านบนด้วยไอศกรีมกระทิสด เย็นชื่นใจ และอร่อยมากๆ
ด้านในมี 2 ชั้น บริเวณชั้นล่างเป็นโถงขนาดใหญ่ มีเตียงนอน 1 เตียง พร้อมมุ้งแบบกระโจม
มีโต๊ะไม้ทานข้าวที่ปูด้วยผ้าขาวม้าหลากสีตั้งอยู่ริมหน้าต่าง บนโต๊ะมีเตาน้ำมันหอมระเหยและแจกกันดอกไม้สดตั้งอยู่ มีวิวด้านนอกเป็นสวนกล้วยเล็กๆ
ด้านหลังเป็นห้องครัวที่มีกางต้มน้ำและเตาแก็ส สำหรับคนที่อยากลองอาบน้ำอุ่นแบบย้อนยุค
และห้องน้ำที่มีเครื่องทำน้ำอุ่นแบบสมัยใหม่ มีโอ่งมังกรแบบตักอาบสำหรับคนที่ชอบน้ำเย็น มีสบู่ตรานกแก้ว ยาสีฟันตราดอกบัวคู่ และผ้าเช็ดตัวเป็นผ้าขาวม้าจัดเตรียมไว้ให้
ชั้นบนแบ่งออกเป็น 2 ห้องนอน มีโต๊ะเครื่องแป้งตั้งอยู่ด้านหน้า
ห้องด้านขวาชื่อว่า “หลินลับแล” มีเตียงนอนขนาดสองคน 1 เตียง พร้อมมุ้งแบบกระโจม ไม่มีแอร์ แต่มีพัดลมไอเย็นอยู่ปลายเตียง และพัดลมแบบตั้งโต๊ะอีกหนึ่งตัว
ส่วนห้องด้านซ้ายชื่อว่า “หลงลับแล” มีเตียงนอนขนาดหนึ่งคน 2 เตียง พร้อมมุ้งแบบกระโจม
หลังจากเช็คอินและสำรวจที่พักกันเรียบร้อยแล้ว จึงออกมาสักการะ “อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ” บริเวณใจกลางเมืองลับแล ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พัก
อำมาตย์ตรี พระศรีพนมมาศ (ทองอิน แซ่ตัน) อดีตนายอำเภอลับแลในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้สร้างความเจริญให้แก่อำเภอลับแลเป็นอย่างมาก เช่น เป็นผู้วางผังเมืองลับแล สร้างฝายหลวง พัฒนาการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมการเกษตร เป็นบุคคลที่คนอำเภอลับแลให้ความเคารพนับถือสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน (ที่มา : วิกิพีเดีย)
บริเวณด้านหน้าอนุสาวรีย์เป็นลานปูนกว้างๆ มีตลาดนัดเล็กๆมาตั้งขายของ
กำแพงรอบๆมีภาพวาดบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวเมืองลับแล ให้ได้มาเก็บภาพแนวฮิปสเตอร์ลงอินสตาแกรม
จากนั้นก็มาเดินเล่น “ตลาดต้องชม ถนนวันวาน” ถนนคนเดินของเมืองลับแล อยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์เมืองลับแล หน้าซุ้มประตูเมือง
มีร้านค้าขายอาหาร ขนม ผลไม้ ผ้าทอพื้นเมือง และของที่ระลึก ฯลฯ
มีการแสดงฟ้อนรำพื้นเมืองจากคุณป้าคุณยายชาวลับแลไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว
และสุดท้ายก็ใจไม่แข็งพอ เมื่อเจอผ้าซิ่นตีนจกที่มีสีและลวดลายที่ถูกใจ
มื้อเย็นพวกเราไปหาอะไรทานกันที่ “ศูนย์อาหารเมืองลับแล” อยู่ห่างจากซุ้มประตูเมืองประมาณ 500 เมตร ตรงข้ามกับปั้มน้ำมันบางจาก
มีสองเมนูที่ภูมิใจนำเสนอ จากสองร้านในภาพด้านบน เมนูแรกคือ “ส้มตำปูปลาร้ากุ้งสด” เส้นมะละกอกรอบๆ กุ้งสดๆ และน้ำปูปลาร้านั่วๆ ที่รวมกันแล้วแซ่บมากๆ จนต้องกลับมากินอีกรอบก่อนกลับกรุงเทพฯ
และอีกเมนูก็คือ “ลูกชิ้นทอดสุโขทัย” ลูกชิ้นปลาสูตรพิเศษที่เพิ่งทอดสดใหม่จากเตา กินคู่กับส้มตำปูปลาร้ากุ้งสด เข้ากันได้ดีมาก
DAY 2
วันต่อมาพยายามตื่นให้เช้าที่สุด เพื่อออกไปถ่ายรูปบรรยากาศหมอกยามเช้าของเมืองลับแลจาก “จุดชมวิววัดม่อนอารักษ์” ซึ่งตั้งอยู่บนม่อน (ภูเขา) ลูกเล็กๆ ห่างจากที่พักเพียงแค่ 4 กิโลเมตร
จุดชมวิวอยู่บริเวณริมระเบียงศาลาข้างลานจอดรถ ก่อนเข้าไปแนะนำให้ขออนุญาตหลวงพี่ที่กำลังกวาดลานวัดอยู่แถวๆนั้นก่อน และกรุณาถอดรองเท้าก่อนเข้าไป
ฉากหน้าเป็นทุ่งนาและต้นไม้ที่กำลังผลิใบเขียวขอุ่ม มีหมอกบางๆ ลอยอยู่เหนือทิวเขาเป็นฉากหลัง
มีหมู่บ้านเล็กๆแทรกตัวอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อากาศเย็นสบายและบริสุทธิ์มาก
บริเวณลานจอดรถของวัดมีน้องหมาขี้เหงาอยู่หนึ่งตัว ตอนแรกทำเป็นเขินอาย แต่พอเข้าไปเล่นด้วยเท่านั้นแหละ เข้ามาเล่นกับเราไม่ยอมหยุด แถมเล่นใหญ่อีกต่างหาก
พันขาพันแข้งเราไม่ยอมหยุด จนหลวงพี่ต้องเดินมาดุ จึงหลบไปนั่งหน้าเศร้า
บริเวณทางขึ้นวัดม่อนอารักษ์มี “อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร” ปฐมกษัตริย์แห่งนครลับแล ที่มีตำนานเล่าขานว่า พระองค์เป็นพระราชบุตรในพระเจ้าเรืองไทธิราช กษัตริย์วงศ์สิงหนวัติแห่งอาณาจักรโยนกนาคนครเชียงแสน และได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระราชบิดาให้มาปกครองนครลับแล ซึ่งถือว่าเป็นเมืองชายแดนของอาณาจักรโยนกนาคนครเชียงแสนเมื่อปี พ.ศ. 1513 เพื่อป้องกันภัยจากการรุกรานของกำโพชนคร (ขอม) และพม่า อนุสาวรีย์แห่งนี้จึงสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึกถึงวีรกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของท่าน เปรียบได้กับการให้กำเนิดเมืองลับแลก่อนมาเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน (ที่มา : ททท.)
ใกล้ๆกับอนุสาวรีย์เป็นสะพานปูนข้าม “ฝายหลวง” เป็นฝายที่นายทองอินหรือภายหลังได้เป็นพระศรีพนมมาศ เป็นผู้ให้ก่อสร้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จมาเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน การก่อสร้างใช้แรงงานชาวบ้านลับแลร่วมมือร่วมแรงกันขึ้น มีนายทองอินเป็นผู้ควบคุมดูแล โดยไม่ได้ใช้เงินจากทางราชการ (ที่มา : คมชัดลึก)
ติดกับฝายหลวงคือ “ตลาดฝายหลวง” ตลาดยามเช้าของชาวบ้านตำบลฝายหลวง ที่เริ่มคึกคักตั้งแต่เช้ามืดและวายตอนสายๆ
ขากลับเข้าตัวเมืองลับแลจะผ่านม่อนจำศีล เป็นม่อนเล็กๆริมถนน ด้านบนเป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระเหลือ” พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจากทองชนวน ที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองลับแล มีพระราชประสงค์ที่จะใช้ม่อนจะศีลเป็นที่ประดิษฐานองค์พระเหลือ (อ้างอิงจากหนังสือ ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ)
นอกจากนี้บริเวณด้านหลังศาลาขององค์พระเหลือ จะมีปากถ้ำเล็กๆที่เชื่อกันว่าเป็นทางเข้าสู่เมืองลับแลที่ลี้ลับตามตำนาน ซึ่งตอนนี้ทางเข้าถูกปกคลุมด้วยดินและหญ้าหมดแล้ว (ลืมถ่ายรูป)
จากนั้นก็มาแวะชมบรรยากาศของ “ตลาดสดเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ” อยู่บริเวณด้านข้างของอนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ ซึ่งเริ่มวายแล้ว
ติดกับตลาดมี “ศาลเจ้าปึงเถ่ากง ปึงเถ่าม่า” ให้ได้เข้าไปสักการะและขอพร
น้องหมานั่งเหม่ออยู่ริมสามแยกเมืองลับแล
เมื่อกลับมาถึงที่พัก เจอตะกร้าใบเล็กๆแขวนอยู่หน้าประตู ด้านในมีห่ออาหารหวานคาวแบบท้องถิ่นหลายอย่างที่คุณเบญ เจ้าของเกสเฮ้าส์ ซื้อมาจากตลาดเพื่อนำมาเป็นอาหารเช้าให้กับพวกเรา
พร้อมกับกระดาษหนึ่งใบ บันทึกข้อความทักทายยามเช้าและคำแนะนำต่างๆด้วยลายมือ ให้ความรู้สึกเหมือนสมัยประถมที่เขียนจดหมายหากัน
พวกเราเป็นลูกค้าชุดที่ 109 คุณเบญเขียนบอกเอาไว้
อาหารเช้าที่คุณเบญจัดเตรียมไว้ให้ประกอบด้วย น้ำพริกหนุ่มและผักต้ม หมูปิ้ง ไก่ทอด ทอดมัน ต้มมะระยัดไส้หมูสับ และข้าวเหนียวที่ห่อด้วยใบตอง ส่วนของหวานเป็นขนมครก ขนมเข่ง และขนมเทียน อร่อยทุกอย่าง
ทานเสร็จก็เก็บของและถ่ายรูปเก็บบรรยากาศของบ้านหลังนี้ไว้เป็นที่ระลึก
ตลอดระยะเวลา 2 วัน 1 คืนที่ได้มาพักที่นี่ รู้สึกเหมือนได้มาพักบ้านญาติหรือบ้านเพื่อนที่ต่างจังหวัด ได้รับการต้อนรับและดูแลอย่างอบอุ่น ได้สัมผัสถึงความพิถีพิถัน ความตั้งใจ และความเอาใจใส่ในการบริการอย่างเป็นกันเอง มีความสุขและประทับใจมากๆ ก่อนกลับจึงเขียนบันทึกกลับลงไปบนกระดาษใบเดิม เพื่อขอบคุณและให้กำลังใจคุณเบญในการดูแลและเก็บรักษาบ้านที่แสนอบอุ่นหลังนี้ต่อไป หากใครมีโอกาสได้ไปเยือนเมืองลับแล พวกเราขอแนะนำ “ลับแลเกสเฮ้าส์”
จุดหมายต่อไปคือ “พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล” สถานที่สืบทอดมรดกภูมิปัญญาจากอาณาจักรโยนกเชียงแสน สู่เมืองลับแล ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเกสเฮ้าส์
คำว่า “ตีนจก” อาจแผลงมาจากลักษณะของผ้าซิ่น ชายผ้าจะเรียกว่า “ตีนซิ่น” การทำลวดลายชายซิ่นด้วยมือ ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “จก” ซิ่นตีนจก จึงหมายถึง ชายซิ่นที่ทำด้วยมือ
พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าตีนจกไท-ยวนสู่คนรุ่นหลัง เพื่อส่งเสริมและยกระดับการท่องเที่ยวอำเภอลับแลให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว
เริ่มต้นมาจาก “ครูโจ” (คุณจงจรูญ มะโนคำ) ซึ่งเกิดในครอบครัวไท-ยวนที่ผู้หญิงทุกคนต้องทอผ้าสืบต่อกันมาแบบรุ่นสู่รุ่น ได้ยึดถือเอาคุณแม่เป็นแรงบันดาลใจ แม้คนลับแลจะห้ามผู้ชายทอผ้า
แต่ด้วยความรักในความงามของผ้าซิ่นตีนจกจึงใช้วิธีครูพักลักจำ เรียนรู้ทุกกระบวนการก่อนรวบรวมกลุ่มทอผ้าบ้านคุ้มและบ้านนาทะเล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน ลับแล
เพื่อบอกเล่าภูมิปัญญาวิถีชีวิตของสาวลับแลผ่านผ้าซิ่นตีนจก ผ้าทอพื้นเมืองที่มีความประณีต สอดแทรกด้วยทัศนคติ ความเชื่อ แต่งเติมจินตนาการผ่านเส้นสายลวดลายโบราณ (ที่มา : พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน ลับแล)
นอกจากจะจัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวนของเมืองลับแลแล้ว ยังเป็นสถานที่รวบรวมผ้าซิ่นตีนจกเก่าแก่ที่มีอายุกว่าร้อยปีหลากหลายลวดลายจากหลายภูมิภาคมาไว้ในที่เดียว เช่น ผ้าซิ่นตีนจกนาหมื่น-นาน้อย จ.น่าน ผ้าซิ่นตีนจกเชียงใหม่ ผ้าซิ่นตีนจกลำปาง เป็นต้น
พร้อมทั้งจัดแสดงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทอผ้าหลากหลายรูปแบบ เช่น ฟืม กง ไนปั่นด้าย ฯลฯ
บริเวณชั้นล่างจัดแสดงกี่ทอผ้าที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน หากมาถูกจังหวะจะมีเจ้าหน้าที่มาทอให้ดู
มื้อกลางวันไปลองชิมของทอดลับแล “ร้านเจ๊นีย์” ถนนราษฎร์อุทิศ หรือถนนคนกิน
มีของชุบแป้งทอดร้อนๆจากเตาให้เลือกหลายอย่าง เช่น หน่อไม้ทอดยัดไส้หมู ข้าวโพดทอด เผือกขาหมูทอด หรือกุ้งทอด ฯลฯ
ทานคู่กับน้ำจิ้มสูตรพิเศษของร้าน
กรอบอร่อยราคาไม่แพง
หลบอากาศร้อนในช่วงบ่าย ไปสัมผัสกับอากาศเย็นจากธรรมชาติกันที่ “น้ำตกแม่พูล” อยู่ห่างจากตัวเมืองลับแล 12 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถประมาณ 20 นาที
เป็นน้ำตกที่เกิดจากการตกแต่งธารน้ำไหลให้เป็นชั้นๆคล้ายกับน้ำตกธรรมชาติ รายล้อมไปด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม บรรยากาศร่มรื่นมากๆ ตัวน้ำตกอยู่ห่างจากลานจอดรถเพียงแค่ 300 เมตร ทางเดินสะดวก
ก่อนถึงน้ำตกแม่พูลมี “เฮือนลับแล” บ้านกาแฟกลางสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่ออย่างทุเรียนหลงลับแล
มีเมนูที่แนะนำว่าต้องลองคือ “หลงลับแลเดอลุกซ์โทสต์” เสียดายที่พวกเราไม่ได้ลอง เพราะทุเรียนสุกไม่ทัน
และยังมีของหวานและเครื่องดื่มอื่นๆให้เลือกอีกหลายเมนู
มีโซนที่นั่งให้เลือกทั้งแบบในร้าน ในสวน และนั่งแช่เท้าจิบกาแฟในลำธารใกล้ชิดกับธรรมชาติ
มีร้านขายสินค้าพื้นเมือง และก็ใจไม่แข็งพอเป็นครั้งที่สอง จึงได้ผ้าซิ่นมาอีกหนึ่งผืน
ตลอดสองข้างทางจะมีร้านรับซื้อและขายทุเรียนพันธุ์หลง-หลินลับแล และพันธุ์อื่นๆอยู่เป็นระยะ
ราคากิโลกรัมละประมาณ 400 บาท ลูกนึงประมาณกิโลกว่าๆ ช่วงที่เราไปเป็นรุ่นที่ยังไม่แก่เหมือนกันทุกร้าน ต้องรออีกสองวันถึงจะกินได้ แต่ขี้เกียจแบกกลับกรุงเทพเลยอดชิม ไว้ค่อยกลับไปแก้ตัวใหม่นะ
ก่อนกลับพวกเราตะเวนแวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเมืองลับแล เริ่มที่วัดแรกคือ “วัดเจดีย์คีรีวิหาร” ภายในวัดมีพระเจดีย์โบราณซึ่งเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งขอแบ่งมาจากพระมหาชินธาตุเจ้า (พระธาตุดอยตุง) จังหวัดเชียงราย ถือกันว่าพระเจดีย์แห่งนี้เป็นพระบรมธาตุเจดีย์แห่งแรกในอำเภอลับแล (ที่มา : วิกิพีเดีย)
วัดต่อมาคือ “วัดท้องลับแล” ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน
ความพิเศษของวัดนี้คือปรากฏการณ์ “ภาพหัวกลับ” ภายในโบสถ์ของวัดในวันที่มีแสงแดดจัดๆ
เป็นภาพของเจดีย์แก้วที่ตั้งอยู่ด้านข้างของพระอุโบสถ สะท้อนผ่านบานหน้าต่างเข้าไปเกิดเป็นภาพหัวกลับที่ด้านในพระอุโบสถ เสียดายที่พวกเรามาเย็นไปหน่อยจึงไม่มีโอกาสได้เข้าไปข้างใน
ตัวอย่างภาพประกอบจากเว็บไซด์ Fotobug photo by : Chaiyaritta@yahoo.com
ใกล้ๆกับซุ้มประตูทางเข้าวัดมีสระน้ำ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอไตรกลางน้ำอายุหลายร้อยปี
บรรยากาศของทุ่งนาและทิวเขาระหว่างเดินทางต่อไปยังวัดที่สาม
“วัดดอนสัก” หากค้นหาด้วยชื่อนี้บนกูเกิ้ลแมพจะพาเลยวัดไปผิดทางเกือบกิโล และจะผ่านทุ่งนาที่เห็นอยู่ด้านบน ซึ่งจริงๆแล้ววัดอยู่ตรงสามแยก ใกล้กับ “หอม ผ้าทอลับแล”
จุดเด่นของวัดนี้คือ “บานประตูวิหาร” เป็นคู่บานประตูไม้จำหลักโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นบานประตูพุทธศาสนสถานที่มีความสวยงามมากที่สุด 1 ใน 3 คู่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ คือ บานประตูวิหารวัดพระฝาง บานประตูพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ และบานประตูวิหารวัดดอนสัก
โดยบานประตูวิหารวัดดอนสักนี้เป็น 1 ใน 2 คู่ บานประตูสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน
บานประตูวิหารวัดดอนสักเป็นสถาปัตยกรรมเชียงแสนผสมสุโขทัย ตัวเสาประตูเป็นลายกนกใบเทศสลับลายกนกก้ามปู บานประตูเป็นไม้แกะสลักทั้งบาน รูปลายกนกก้านขด มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ในลวดลายกนกต่างๆ มีความอ่อนช้อยงดงาม
บานซ้ายและขวานั้นไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดบานแล้วลวดลายมีความลงตัวเข้ากันได้สนิท (ที่มา : วิกิพีเดีย)
ขับออกจากตัวเมืองลับแลไปทางทิศใต้อีกประมาณ 6 กิโลเมตร คือสถานที่ตั้งของ “วัดพระแท่นศิลาอาสน์”
พระแท่นศิลาอาสน์เป็นพุทธเจดีย์ เช่นเดียวกับพระแท่นดงรัง เป็นที่เชื่อกันมาแต่โบราณว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งห้าพระองค์ในภัทรกัปนี้ ได้เสด็จและจะได้เสด็จมาประทับนั่งบนพระแท่นแห่งนี้ เพื่อเจริญภาวนา และได้ประทับยับยั้งในเวลาที่ตรัสรู้แล้วเพื่อโปรดสัตว์
ตัวพระแท่นเป็นศิลาแลง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 8 ฟุต ยาวประมาณ 10 ฟุต สูง 3 ฟุต ที่ฐานพระแท่นประดับด้วยลายกลีบบัวโดยรอบ มีพระมณฑป ศิลปะเชียงแสน ครอบอยู่ภายในพระวิหาร โดยทางราชการได้นำพระแท่นศิลาอาสน์ไปประดิษฐานไว้ในตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ (ที่มา : วิกิพีเดีย)
นอกจากนี้ยังมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่สวยสดงดงาม บอกเล่าเรื่องราวตำนานความเป็นมาของพระแท่นศิลาอาสน์ เมืองลับแล และภาพการเสด็จมานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ตั้งแต่สมัยอยุธยา
จุดหมายสุดท้ายคือการมาสักการะ “อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก“ ซึ่งประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล
กลับเอารถมาคืนที่สถานีขนส่ง และเดินทางกลับด้วยรถทัวร์ของนครชัยแอร์ เป็นอันจบทริปพาแฟนไปแอ่วเมืองลับแล เพราะฉันแคร์เธอ ทริปพาคนที่แคร์มาดูแลและพักผ่อนแบบย้อนวันวาน ณ ลับแลเกสเฮ้าส์ ลิ้มรสอาหารท้องถิ่น เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม พร้อมกับสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ในเมืองที่มีตำนานเล่าขานถึงความลึกลับ ที่ไม่เป็นความลับอีกต่อไปสำหรับเราสองคน
สรุปรายละเอียดการเดินทาง ดังนี้
DAY 1
1. ออกเดินทางจากศูนย์บริการลูกค้านครชัยแอร์ ถนนกำแพงเพชร 2
2. ถึงสถานีขนส่งจังหวัดอุตรดิตถ์
3. ร้านอาหาร “พบลับแล”
4. ซุ้มประตูเมืองลับแล
5. พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล
6. พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกม่อนลับแล
7. ร้านอาหารและคาเฟ่ “ลับแล ลา ลีกา”
8. ร้านข้าวพันผักอินดี้
9. อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ
10. ตลาดต้องชม ถนนวันวาน
11. ศูนย์อาหารเมืองลับแล
12. พักที่ “ลับแลเกสเฮ้าส์”
DAY 2
1. จุดชมวิววัดม่อนอารักษ์
2. อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร
3. ตลาดฝายหลวง
4. สักการะพระเหลือ ม่อนจำศีล
5. ตลาดสดเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ
6. ศาลเจ้าปึงเถ่ากง ปึงเถ่าม่า
7. พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล
8. ชิมของทอดลับแล “ร้านเจ๊นีย์”
9. น้ำตกแม่พูล
10. บ้านกาแฟกลางสวนผลไม้ “เฮือนลับแล”
11. วัดเจดีย์คีรีวิหาร
12. วัดท้องลับแล
13. วัดดอนสัก
14. วัดพระแท่นศิลาอาสน์
15. อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก
หมายเหตุ : อำเภอลับแล เป็นอำเภอเล็กๆ สถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งจึงอยู่ไม่ไกลกัน
สรุปรายละเอียดค่าใช้จ่าย ดังนี้
1. ค่าตั๋วรถทัวร์นครชัยแอร์ ราคา 740 บาท/คน (ราคาสมาชิก)
ตารางการเดินทางเที่ยวไปและกลับ
ช่องทางการซื้อตั๋ว
- ผ่านเว็บไซด์ นครชัยแอร์ หรือ Call Center 1624 หรือที่ 7-11 ทุกสาขาทั่วประเทศ
- ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ IOS / Android วิธีการจอง คลิกที่นี่
Tip!
อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการนั่งรถทัวร์นานๆข้ามคืน สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินมาลงที่สนามบินสุโขทัยหรือสนามบินพิษณุโลกก็ได้เช่นกัน จากนั้นค่อยเช่ารถยนต์จากสนามบินขับไปอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ รายละเอียด ดังนี้
- จากสนามบินสุวรรณภูมิ ไป สนามบินสุโขทัย มีเพียงสายการบินเดียวที่ให้บริการคือ Bangkok Airway มีให้บริการวันละ 3 เที่ยวบิน (เที่ยวแรกเวลา 7.00 น.)
- จากสนามบินดอนเมือง ไป สนามบินพิษณุโลก มี 3 สายการบินที่ให้บริการคือ AirAsia, LionAir และ NokAir (เที่ยวแรกเร็วสุดของ NokAir เวลา 06.20 น.)
สามารถตรวจสอบเที่ยวบินและราคาตั๋วเครื่องบินในราคาสุดพิเศษได้ที่เว็บไซด์ https://www.traveloka.com/th-th/flight
- รถยนต์เช่าจากสนามบินสุโขทัยและสนามบินพิษณุโลก มีบริษัทอรุโนทัย เรนท์ อะคาร์ ที่เปิดให้บริการทั้งสองแห่ง เบอร์ติดต่อ 085-8776849
- จากสนามบินสุโขทัย ไป อำเภอลับแล ระยะทาง 77.3 กม. ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. (อ้างอิงตาม Google Map)
- ระยะทางจากสนามบินพิษณุโลก ไป อำเภอลับแล ระยะทาง 125 กม. ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. 48 นาที (อ้างอิงตาม Google Map)
2. ค่าเช่ารถ มุ้งมิ้ง รถเช่าอุตรดิตถ์ วันละ 1,200 บาท 2 วัน 2,400 บาท ค่าน้ำมัน 250 บาท
ข้อมูลการติดต่อ
- Facebook : มุ้งมิ้ง รถเช่าอุตรดิตถ์
- เบอร์โทรศัพท์ 083-2269486, 096-9528353
3. ค่าที่พัก ลับแลเกสเฮ้าส์ 1 คืน ราคา 1,000 บาท
ข้อมูลการติดต่อ
- Facebook : ลับแลเกสเฮาส์
- เบอร์โทรศัพท์ 084-5023761 (คุณเบญ)
4. ค่าที่พัก ต้นกล้า แฮปปี้โฮม (ใกล้สถานีขนส่ง) 1 คืน ราคา 350 บาท
ข้อมูลการติดต่อ
- Facebook : ต้นกล้า แฮปปี้โฮม ที่พักอุตรดิตถ์
- เบอร์โทรศัพท์ 096-6678889
5. ค่าเข้าชมสถานที่ : ไม่มี
6. ค่าอาหารและอื่นๆ : ตามอัธยาศัย
รวมค่าใช้จ่าย 2 วัน 1 คืน ทั้งหมด 5,480 บาท ตกคนละ 2,740 บาท
คิ้วหนา & ตากลม
Love is a journey | เพราะความรัก คือ การเดินทาง…
ติดตามการเดินทางของพวกเราเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/LoveIsAJourneyThailand